เป็นที่ทราบกันดีว่าทั่วโลกกำลังมุ่งไปสู่การลดโลกร้อน องค์กรต่างๆ ทั้งระดับเล็ก กลาง ใหญ่ รวมถึงระดับโลก ล้วนมุ่งขับเคลื่อนนโยบายเพื่อมุ่งลดโลกร้อนกันอย่างจริงจังตั้งแต่ต้นปี 2564 ล่าสุด ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank-ADB) ซึ่งมีประเทศมหาอำนาจสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดประเทศละ 15.6 % ประกาศเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2564 จะจัดตั้งกองทุนเพื่อซื้อโรงงานถ่านหินและส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนในอาเซียน โดยจะเริ่มซื้อโรงงานถ่านหินในอาเซียนเป็นครั้งแรกในปี 2565-2566 เพื่อเข้ามาบริหารจัดการ เพื่อเร่งปิดตัวโรงงานถ่านหินในอาเซียน ที่ปกติมีอายุการดำเนินงานประมาณ 30-40 ปี ให้เร็วกว่ากำหนด 5-10 ปี โดยหวังผลเพื่อเร่งให้ประเทศในอาเซียนบรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายของ ADB ที่จะลงทุนทั้งหมดมูลค่า 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนระหว่างปี 2562-2573
แผนดังกล่าวของ ADB นับว่าสอดคล้องกับเทรนด์โลกที่ต้องการมุ่งไปสู่การลดโลกร้อนอย่างจริงจัง อีกทั้งสอดคล้องกับแนวทางของการประชุม COP26 ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เมืองกลาสโกว์ ระหว่าง 31 ตุลาคม-12 พฤศจิกายน 2564 ของสหประชาชาติ (United Nations-UN) นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency-IEA) ที่ผลักดัน รายงาน “Net Zero By 2050” โดยย้ำว่า ทั้งโลกจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ได้ ก็ต่อเมื่อประเทศทั่วโลกหยุดใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ดำเนินการอยู่จะต้องค่อย ๆ ปลดระวาง ลดการใช้พลังงานถ่านหินให้น้อยลง หยุดสร้างและขยายเหมืองถ่านหิน หยุดอนุมัติการสำรวจแปลงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงไม่อนุมัติโรงงานไฟฟ้าถ่านหินที่ไม่มีเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนเริ่มดำเนินโครงการในปี 2564 ตลอดจนปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินและน้ำมันที่ไม่มีเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนภายในปี 2583
กองทุนดังกล่าวของ ADB จะถูกจัดสรรจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ในรูปแบบเงินให้เปล่า เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และเป็นแรงจูงให้เกิดการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ทั้งนี้ ADB ได้เริ่มหารือกับรัฐบาลและหน่วยงานด้านสาธารณูปโภคหลายประเทศในอาเซียนที่พึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหินระดับสูงแล้ว อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม แต่ยังไม่มีการเปิดเผยถึงมูลค่าทั้งหมดของกองทุนดังกล่าว แต่คาดว่า จะมีมูลค่ามหาศาล เพราะโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 โรงโดยเฉลี่ย คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นกับกำลังในการผลิตไฟฟ้าแต่ละโรง ซึ่ง IEA ประเมินว่า กว่า 40% ของพลังงานที่ใช้บนโลกทั้งหมดล้วนมาจากถ่านหิน โดย 60% ของพลังงานถ่านหินดังกล่าวมาจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมถึงจีน ซึ่งหากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม สามารถแทนที่พลังงานจากถ่านหินเหล่านี้ด้วยพลังงานหมุนเวียนได้ 50% จะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงถึง 200 ล้านตัน/ปี ซึ่งเทียบเท่ากับการนำเอารถยนต์ระบบสันดาปภายในหรือรถยนต์น้ำมันที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้จำนวนมากถึง 61 ล้านคัน ออกจากท้องถนนเลยทีเดียว
การจัดตั้งกองทุนของ ADB ข้างต้นสะท้อนว่า ADB จริงจังกับนโยบายดังกล่าว อีกทั้งสะท้อนว่า ประเทศมหาอำนาจและ ADB ทราบดีกว่าประเทศกำลังพัฒนา เฉพาะอย่างยิ่งประเทศในอาเซียน ยังคงมีความต้องการพลังงานถ่านหินระดับสูง และยังไม่มีความพร้อมด้านเงินทุนที่จะใช้เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดได้รวดเร็วเหมือนกับประเทศพัฒนาแล้ว จึงจำเป็นต้องเข้ามาให้การช่วยเหลือเพื่อคงอิทธิพลทางเศรษฐกิจในภูมิภาคในยุคเศรษฐกิจใหม่ที่เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด ทั้งนี้ แม้การประกาศดังกล่าวของ ADB ยังไม่มีการระบุถึงการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าถ่านหินในไทย แต่อาจมีการเข้ามาเจรจากับหน่วยงานภาครัฐของไทยในอีกไม่ช้า ซึ่งรัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจต้องเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับทิศทางด้านพลังงานที่จะเปลี่ยนไปทั้งในระดับโลก ภูมิภาค ประเทศ และท้องถิ่นต่อไป
———————————