กฎหมายของสหรัฐฯ เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ และล่าสุดเมื่อ 5 ตุลาคม 2564 สมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯ นำโดยนาย Gregory W. Meeks ส.ส.นครนิวยอร์ก สังกัดพรรคเดโมแครต และประธานคณะกรรมาธิการฝ่ายต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เสนอร่างกฎหมาย Burma Unified through Rigorous Military Accountability Act of 2021 หรือ BURMA Act เนื้อหาเกี่ยวกับแนวทางที่รัฐบาลสหรัฐฯ ควรดำเนินการต่อเมียนมาเพื่อให้เป็นผลดีต่อประชาชนและประชาธิปไตย ขณะเดียวกัน นาย Meeks ต้องการให้ชาวเมียนมาและประชาคมระหว่างประเทศเห็นว่า สหรัฐฯ ยังให้ความสำคัญและติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด
ที่ผ่านมา สถานการณ์การเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชนในเมียนมาเป็นประเด็นที่นานาชาติให้ความสนใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเคลื่อนไหวของประชาชนชาวเมียนมาหลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นอยู่เหนือความคาดหมายของหลาย ๆ ฝ่าย และยังยืดเยื้อถึงปัจจุบัน ทำให้ประเด็นความมั่นคงในเมียนมายังอยู่ในความสนใจของสื่อมวลชน องค์กรสิทธิมนุษยชนและประชาคมระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้แต่นักการเมืองสหรัฐฯ
สาเหตุที่นักการเมืองหรือสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯ (congress) ยังคงสนใจพลวัตรเหตุการณ์ในเมียนมา ทั้งที่สหรัฐฯ เองก็แทบจะทำอะไรได้ไม่มาก เพราะไม่ว่าจะคว่ำกี่บาตร หรือแสดงความกังวลกี่ครั้ง ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของผู้นำเมียนมาในปัจจุบันได้ แต่นักการเมืองและฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯ จะต้องแสดงออกว่าพวกเขาคัดค้านการกระทำที่ขัดต่อค่านิยมหลักของชาวอเมริกัน นั่นคือ “ประชาธิปไตย เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน” และพร้อมจะสนับสนุนกลุ่มที่มีอุดมการณ์ร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อให้ได้ภาพลักษณ์ที่ดี สร้างผลงานในการออกกฎหมาย และได้คะแนนนิยมจากชาวอเมริกัน รวมทั้งชาวเมียนมาที่อยู่ในสหรัฐฯ ด้วย ดังนั้น สมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในคณะกรรมาธิการต่างประเทศ (Foreign Affairs Committee) มักจะผลักดันรัฐบัญญัติหรือกฎหมายที่จะให้รัฐบาลสหรัฐฯใช้ ดำเนินนโยบายต่างประเทศตามทิศทางที่พวกเขาต้องการ
ดังนั้น การเสนอ BURMA Act เป็นการแสดงออกทางการเมือง และอาจมีผลทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มการดำเนินการต่อเมียนมาเพื่อให้กลับสู่ระบอบประชาธิปไตย
สำหรับสาระสำคัญของ BURMA Act ได้แก่
(1) ให้รัฐบาลสหรัฐฯ คว่ำบาตรบุคคลและองค์กรที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมียนมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งสหรัฐฯ จะทำทั้งแบบบังคับ (Mandatory sanctions) และแบบให้รัฐบาลพิจารณา (Discretionary sanctions) ดังนั้น เรียกได้ว่า…คว่ำบาตรบุคคลและองค์กรในเมียนมาเพิ่มเติมจากที่สหรัฐฯ ดำเนินการไปแล้วตลอดห้วงที่ผ่านมา รวมทั้งองค์กรภาคพลังงานด้วย
(2) ให้คว่ำบาตรการนำเข้าอัญมนีจากเมียนมา
(3) อันนี้น่าสนใจ…คือ ให้แต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งผู้ประสานงานพิเศษเพื่อนำเมียนมากลับสู่ประชาธิปไตย (Special Coordinator for Burmese Democracy) สังกัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ …น่าลุ้นว่าจะเป็นใคร มีพื้นเพอย่างไร และจะทำให้สถานการณ์ซับซ้อนขึ้นหรือไม่
(4) ให้รัฐบาลสหรัฐฯ สนับสนุนสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (USAID) และภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวในเมียนมา ไทย บังคลาเทศ และพื้นที่อื่น ๆ ในภูมิภาคที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมา ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในเมียนมาที่อยู่ในไทยและบังกลาเทศ รวมทั้งสนับสนุนกลุ่มประชาธิปไตย พร้อมทั้งให้รับประกันว่านักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยจะได้รับความปลอดภัยและไม่ถูกผลักดันกลับโดยไม่เต็มใจ
(5) ให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่าการปฏิบัติต่อชาวมุสลิมโรฮีนจาเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ …ซึ่งประเด็นนี้จะไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ผู้นำกองทัพเมียนมา และ
(6) ให้รัฐบาลสหรัฐฯ กดดันสหประชาชาติให้มีนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนต่อเมียนมามากขึ้น
เมื่อดูจากสาระสำคัญทั้ง 6 ข้อของ BURMA Act ก็จะประเมินได้ว่า หากร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับความเห็นชอบโดยไม่มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหา สหรัฐฯ ก็จะใช้การคว่ำบาตรและการช่วยเหลือภาคประชาสังคม รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือจัดการกับสถานการณ์การเมืองในเมียนมา รวมทั้งจะมีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในกระทรวงการต่างประเทศเพื่อติดตามสถานการณ์ในเมียนมาโดยเฉพาะ โดยส่วนที่จะเกี่ยวข้องกับไทย คือ การสนับสนุนกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนชาวเมียนมาที่อยู่ในประเทศต่าง ๆ มากขึ้น รวมทั้งไทย และมาตรการคว่ำบาตรที่อาจส่งผลกระทบต่อนักธุรกิจไทยที่มีกิจการในเมียนมา
อย่างไรก็ดี คาดว่าสหรัฐฯ จะทบทวนให้รอบคอบว่า การออก BURMA Act จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ในภาพรวมหรือไม่ เพราะมาตรการกดดันต่าง ๆ เสี่ยงที่จะกลายเป็นแรงผลักดันเมียนมาให้ยิ่งใกล้ชิดจีน ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อสหรัฐฯ ในระยะยาว
————————————————–