ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมาถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศจีน เนื่องจากเป็นวันสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งถือเป็นวันหยุดยาวของคนจีนที่จะกินเวลามากถึง 7 วันเต็ม โดยคนจีนจำนวนมากจะพาครอบครัวออกไปท่องเที่ยวและพักผ่อน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาสำคัญแบบนี้ทางการจีนจะมีภาพยนตร์ที่สื่อนัยยะสำคัญต่อทิศทางของชาติ หรือฉลองความสำเร็จที่ผ่านมาของประเทศจีน ในปี 2563 ซึ่งจีนฉลอง 70 ปีวันชาตินั้น ภาพยนตร์เรื่อง My People, My Country ถูกปล่อยออกมาเพื่อบอกเล่าเส้นทางประเทศจีนตลอด 70 ปีที่ผ่านมาจากเนื้อเรื่องย่อยทั้ง 7 เรื่อง
ในขณะที่ปี 2564 ภาพยนตร์เรื่อง My People, My Homeland ได้ถูกเผยแพร่ออกมา โดยภาพยนตร์เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาชนบทและแก้จนของรัฐบาลจีน ซึ่งรัฐบาลจีนพึ่งประกาศชัยชนะในช่วงเวลาดังกล่าว
ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่าภาพยนตร์ซึ่งได้รับโอกาสในการเปิดตัวในช่วงวันชาติของจีนนั้นมักมีนัยและความหมายแฝงที่รัฐบาลจีนต้องการบอกหรือสื่อให้กับประชาชน และภาพยนตร์คือเครื่องมือหนึ่งของรัฐบาลจีนที่ใช้ในการสื่อสารของรัฐบาล
สำหรับในปีนี้ซึ่งครบรอบ 100 ปี พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนนั้น ภาพยนตร์ที่ได้รับการเปิดตัวในวันที่ 30 กันยายน 2564 ก่อนวันชาติเพียงหนึ่งวันคือเรื่อง “The Battle at Lake Changjin” ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามจีน-สหรัฐอเมริกาในเกาหลีในช่วงปี 2493-2496
ภาพยนตร์เรื่องนี้กำลังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของภาพยนตร์จีน เนื่องจากสถิติรายได้ที่กำลังพุ่งสูงจนทุบหลายสถิติ โดยนับถึงวันที่ 17 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้สูงถึง 4.8 พันล้านหยวน หรือราว 745.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของจีนที่สามารถสร้างรายได้มากถึง 400 ล้านหยวน ติดต่อกันเป็นเวลาถึง 6 วันเต็ม ซึ่งยังไม่มีภาพยนตร์เรื่องใดทำได้มาก่อน
กระแสความนิยมดังกล่าวส่งผลให้รายได้ของภาพยนตร์เรื่องนี้มีมากกว่ารายได้ของภาพยนตร์ฮอลลีวูดหลาย ๆ เรื่องที่ออกฉายในช่วงเดียวกันไม่ว่าจะเป็น No Time To Die หรือ Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings
แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่ได้รับสนับสนุนงบประมาณโดยตรงจากรัฐบาลจีนในการผลิต เหมือนหลายเรื่องที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ แต่มันถูกประกาศให้เป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์เฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน
ฉะนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสของคนจีนในการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนและโปรโมทจากรัฐบาล แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือสิ่งที่เรียกว่า “Changjin Lake Effect” ซึ่งเป็นกระแสการชักชวนกันในโลกออนไลน์ของจีนให้ไปรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้
และบรรดาคนดังจำนวนมากในโลกออนไลน์ก็ได้มีการอัดคลิปเพื่อสะท้อนความรู้สึกมากมายจากการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้โดยเฉพาะความรู้สึกรักชาติและความภูมิใจในความเป็นชาติจีน ที่วันหนึ่งได้ทำสงครามเพื่อขับไล่การรุกรานของสหรัฐอเมริกาในเกาหลีได้สำเร็จ
ความสำเร็จอย่างล้นหลามของภาพยนตร์เรื่องนี้ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกและความนึกคิดของคนจีนและรัฐบาลจีนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะต่อความสัมพันธ์ที่มีต่อสหรัฐอเมริกาที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมาทั้งสองประเทศมีปากเสียงกันมาโดยตลอดตั้งแต่สงครามการค้า จนมาถึงประเด็นเกี่ยวกับไต้หวัน
ที่สำคัญไปกว่านั้นคือความหมายของภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเป็นเสียงสะท้อนสำคัญของบางส่วนในสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ที่เน้นย้ำว่าจีนจะไม่ยอมให้ใครมารังแกอีกต่อไป และคนจีนพร้อมรวมใจสู้เพื่อต่อต้านสิ่งเหล่านั้น
หากวิเคราะห์สิ่งเหล่านี้ร่วมกัน อาจพบว่าจีนในวันนี้อาจกำลังปรับเปลี่ยนทัศนคติของเพื่อนร่วมชาติที่มีต่อสหรัฐอเมริกาที่วันหนึ่งเป็นพันธมิตรที่สำคัญของจีน และเป็นประเทศที่จีนต้องการพัฒนาตาม จนทำให้คนจีนจำนวนมากอยากไปเรียนและทำงานที่นั่น
แต่มาวันนี้ความสัมพันธ์อันหวานซึ้งได้แปรเปลี่ยนเป็นความหมางเมินกันเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่มองว่าจีนถือเป็นภัยคุกคามอย่างยิ่งต่อความเป็นมหาอำนาจของตัวเอง
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้พึ่งเกิดขึ้นในประเทศจีน แต่ก่อนหน้าจีนเคยใช้กลไกและนโยบายแบบเดียวกันนี้กับญี่ปุ่น ผ่านการหยิบยกประวัติศาสตร์แห่งความขมขื่นขึ้นมาใช้ จนส่งผลอย่างมากต่อทัศนคติของคนจีนที่มีต่อประเทศญี่ปุ่น
ฉะนั้น “The Battle at Lake Changjin” ในวันนี้ จึงอาจเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของจีนในการสร้างความหมายใหม่ต่อความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา และในอนาคตเราอาจได้เห็นภาพยนตร์หรือละครในลักษณะที่สหรัฐอเมริกาเป็นตัวร้าย หรือชัยชนะของทหารจีนที่มีต่อชาติตะวันตกออกมามากยิ่งขึ้น
ผู้เขียน
นายศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
นักศึกษาปริญญาเอกที่คณะการจัดการ และนักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแถบและเส้นทาง มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน สนใจประเด็นการต่างประเทศ การเมือง และการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียใต้และจีน