การประชุม COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมด้วยนั้น เป็นเวทีที่กระตุ้นให้ทั่วโลกเกิดความสนใจในปัญหาภาวะโลกร้อนกันอีกครั้ง หลังจากการประชุมเมื่อปี 2558 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่เหล่าผู้นำประเทศได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมร่วมกัน แต่ระยะเวลาผ่านมา 6 ปี…โลกยังคงเผชิญกับภัยที่เกิดจากโลกร้อนอยู่อย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น ปัจจุบัน การลดคาร์บอนจึงเป็นเป้าหมายที่ยอมรับกันที่จะทำให้เกิดขึ้นจริงให้ได้!! สำหรับประเทศไทย ซึ่งถูกจัดให้เป็น 1ใน 10 ประเทศที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้ไทยต้องแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศที่ให้คำมั่น เพื่อชะลอความรุนแรงของวิกฤตโลกร้อนนั่นเอง
ในขณะที่ผู้นำทั่วโลกกำลังประชุมเรื่องสิ่งแวดล้อม ผู้นำแห่งโลกโซเชียล… นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัท Facebook เป็น Metaverse ที่จะมุ้งเน้นการสื่อสารและการพาสังคมเข้าสู่โลกเสมือน สะท้อนถึงการขับเคลื่อนเทคโนโลยีของโลกที่ยังคงพัฒนาไปข้างหน้า และผู้ที่เกี่ยวข้องก็ยังพยายามแย่งชิงความเป็นหนึ่งทางด้านต่าง ๆ โดยบริษัท Mocrosoft และ Google กำลังผลักดันการพัฒนาควอนตัมคอมพิวติงสำหรับใช้ประมวลจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และแปลผลการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำและรวดเร็ว ไปจนถึงการพัฒนาเทคโนโลยีทางอวกาศ ที่ทำให้นายอีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัท SpaceX และ Tesla Moters กลายเป็นมหาเศรษฐีของโลกและเป็นผู้นำเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า ที่จะมาแทนเครื่องยนต์สันดาปที่ใช้พลังงานฟอสซิล ถือเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
การแข่งขันและพัฒนาไอเดียของบริษัทต่าง ๆ จะทำให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย โดยระบบคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ จะเก็บร่องรอยพฤติกรรมของเราเข้าสู่ระบบและประมวลผล เพื่อเสนอทางเลือกที่ตรงกับความต้องการของเรา ทั้งทางเลือกในการชอปปิ้งออนไลน์ หรือพบปะสังสรรค์ในโลกเสมือน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเผชิญมลพิษ หรือโรคระบาดจากการใช้ชีวิตภายนอก และต่อไปเราจะสามารถประชุมธุรกิจออนไลน์ได้ ขณะที่เดินทางในรถยนต์ไร้คนขับไปบนถนนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ..เรียกได้ว่า โลกที่มนุษย์มีปัญญาประดิษฐ์คอยรับใช้ และปกป้องเราให้ปลอดภัยจะไม่ใช่อนาคตอันแสนไกลอีกต่อไป
แต่สิ่งที่หลายประเทศยังคงต้องเผชิญอยู่ และปัญหาที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย นั่นคือ “วิกฤตด้านพลังงาน” เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด 19 เริ่มสงบลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเดินหน้า ทำให้ความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น แต่การผลิตยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ผนวกกับความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศของผู้ผลิตพลังงานต่าง ๆ ก็ทำให้หลายประเทศต้องเผชิญกับความขาดแคลนทางด้านพลังงาน นอกจากนี้ การขาดแคลนคนขับรถขนส่งน้ำมันของประเทศอังกฤษ ยังสะท้อนปัญหา supply disruption ทำให้อังกฤษไม่สามารถกระจายน้ำมันได้เพียงพอกับความต้องการ กรณีออสเตรเลียไม่ส่งถ่านหินให้จีนก็ทำให้โรงงานหรือชุมชนหลายแห่งของจีนไม่มีไฟฟ้าใช้ ส่วนจีนที่ต้องการให้ประเทศมีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ แต่ด้วยนโยบายที่ต้องลดคาร์บอนด้วยการลดการใช้พลังงานฟอสซิล ก็ทำให้จีนเจอเรื่องยากที่จะมีพลังงานไฟฟ้าใช้ให้เพียงพอ โดยยังคงรักษาระดับการปล่อยคาร์บอนไว้ได้ ทำให้เริ่มเกิดความวิตกว่าจีนจะเผชิญวิกฤตพลังงานในช่วงฤดูหนาวนี้อีกครั้ง
ในปัจจุบัน แม้เรามีพลังงานทางเลือกมากมาย เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวมวล แต่ความสามารถในการผลิตยังไม่เพียงพอ นอกจากนี้ แหล่งพลังงานดังกล่าวขาดความเสถียร เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีปริมาณมหาศาล แต่มีช่วงเวลาจำกัดในการผลิต และพลังงานลมจะต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีความเร็วลมมากพอ (21 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ดังนั้น เราจะยังคงต้องพึ่งพาการใช้พลังงานจากแหล่งฟอสซิล ทั้งถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน
ดูจากสถิติ อัตราการใช้พลังงานฟอสซิลจากถ่านหินและน้ำมันอยู่ที่ 57% พลังงานหมุนเวียน 15% พลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่นพลังงานนิวเคลียร์และก๊าซธรรมชาติ 28% เพราะพลังงานฟอสซิลมีต้นทุนที่ถูกกว่า นอกจากนี้ เทคโนโลยีของการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังคงมี “ราคาสูง” กว่ากระบวนการดั้งเดิม ทำให้หลายประเทศไม่สามารถเข้าถึงการใช้พลังงานสะอาดได้ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากประเทศพัฒนาแล้ว ประเด็นการสนับสนุนดังกล่าวจึงเป็นเป้าหมายสำคัญในการจัดการปัญหาพลังงานเพื่อความยั่งยืน ที่จะต้องคำนึงถึงมิติทางด้านสังคม ความเท่าเทียม เศรษฐกิจ มิเช่นนั้น การแก้ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมจะสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม หากกิจกรรมการใช้พลังงานสะอาดไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม
ในยุคที่เราอยู่กึ่งกลางระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ชีวิตให้ดียิ่งขึ้น เราอาจเลือกที่จะตัดขาดจาก “โลกจริง” เข้าไปอยู่ในโลกเสมือน เพื่อมีโอกาสได้คัดกรองและรับชมแต่สิ่งที่ต้องการรับรู้ แต่สภาพแวดล้อมรอบตัวในโลกจริงกำลังเสื่อมโทรมลง ดังนั้น การสร้างความตระหนักรู้ถึงสภาวะโลกร้อน ทั้งผ่านเวทีประกวดนางงาม และการติดตามการประชุม COP26 จึงอาจเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญในการเสริมสร้างและระดมความร่วมมือจากทุก ๆ คนบนโลก ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำทันที นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผลิตพลังงานสะอาดก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน รวมถึงเรื่องการใช้เทคโนโลยีเพื่อควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ในการลดใช้พลังงาน หรือใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด มิฉะนั้น เราอาจจะต้องใช้เทคโนโลยีในการเอาตัวรอดจากภัยพิบัติต่างๆ หรือทอดทิ้งโลกออกสู่อวกาศในอนาคตก็เป็นไปได้
เรากำลังก้าวไปสู่อนาคต…หากให้วาดภาพอนาคตไกลกว่าในปี 2050 อาจจะไกลกว่าที่เราจะนึกถึง แต่โลกในตอนนั้นจะเป็นอย่างไร เมื่อในปัจจุบันภัยพิบัติต่าง ๆ รุนแรงมากขึ้น ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบที่ extreme ฝนตกหนักจนน้ำท่วม ฤดูแล้งที่ยาวนานขึ้นจนเกิดไฟป่า คลื่นความร้อนที่โจมตียุโรป และหน้าหนาวที่หนาวเย็นขึ้นกว่าเดิม ขณะที่พลังงานที่ต้องใช้ก็ไม่ เพียงพอ ทำให้เทคโนโลยีล้ำหน้าแค่ไหนก็จะไร้ความหมาย ถ้าไม่ได้แก้ไขปัญหา “ความอยู่รอด” ให้มนุษย์ได้อย่างแท้จริง ดังนั้น การพัฒนาในยุคต่อไปอาจไม่ใช่เพื่อความสะดวกสบาย แต่ควรเป็นไปเพื่อการเอาตัวรอดจากภาวะโลกร้อนมากกว่า จากนั้น เมื่อถึงทางตันที่เราไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาป้องกันตัวเองได้อีก ก็อาจจะเป็นเวลาที่มนุษย์ต้องปรับตัวและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ซึ่งอาจจะมืดมิดยามค่ำคืนเพราะไร้แสงไฟ ต้องเผื่อเวลาการเดินทางที่ใช้เวลายาวนาน และเตรียมใจเผชิญกับความเสี่ยงภัยตลอดเวลา
นั่นคือความโหดร้ายที่รอเราอยู่ หากเราไม่เริ่มปรับตัวตั้งแต่ตอนนี้!!! สถานการณ์ปัจจุบันทำให้เราเห็นแล้วว่าต่อให้มีเทคโนโลยีหรือการคิดค้นแหล่งพลังงานใหม่ ๆ ได้มากแค่ไหน ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และถึงเราจะหนีไปอยู่ในโลกเสมือนได้ แต่เราคงยังต้องหายใจ กินอาหาร และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติต่อไป สุดท้ายนี้…ไม่ว่าจะตอนนี้หรือในอนาคตอันโหดร้าย ความสามารถในการปรับตัวยังคงเป็นทักษะที่จำเป็นที่สุด และนั่นเป็นความสามารถที่มีมาตลอดของสิ่งมีชีวิตที่สามารถ “วิวัฒนาการ” ให้อยู่ได้ในสภาพแวดล้อมต่างๆ ของโลก หรือไม่ก็ทำได้แค่ “สูญพันธุ์” ไป เพียงเท่านั้น
——————————————————————-