เมื่อปลายตุลาคม 2564 หน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้รายงานว่า รัฐบาลเกาหลีเหนือกำลังโปรโมทหลักคิดและอุดมการณ์ “Kimjongunism” (หรือ 김정은주의 ในภาษาเกาหลี) ที่เน้นเชิดชูคุณงานความดีของตัวผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือคนปัจจุบัน หรือนายคิม จอง-อึน ผู้นำหนุ่มวัย 37 ปีที่ปกครองประเทศมาตั้งแต่ปี 2554 โดยหน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้ให้เหตุผลว่า นายคิม จอง-อึนไม่อยากอยู่ภายใต้ “เงา” ของอดีตผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนืออย่างนายคิม อิล-ซุง ผู้เป็นปู่และนายคิม จอง-อิล ผู้เป็นบิดาของเขาเองอีกต่อไป นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ตัวเขาเองไม่ชอบระบบที่ผู้นำรุ่นก่อนสร้างเอาไว้ โดยเฉพาะการที่เขาต้องปฏิบัติตามประเพณีที่สร้างโดยคนรุ่นก่อน ๆ เขาจึงใช้อุดมการณ์ใหม่นี้เป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารภายในประเทศ ให้เป็นสไตล์ของเขาเอง
นอกจากนี้ สื่อเกาหลีเหนืออย่าง NK News เองก็รายงานว่า ปัจจุบันมีการย้ายรูปภาพของอดีตผู้นำสูงสุดทั้ง 2 คนออกไปจากอาคารสำนักงานของรัฐบาลในกรุงเปียงยางด้วย บ่งชี้ว่าครั้งนี้ ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือจริงจังที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำของตัวเองให้แข็งแกร่งและเป็นตัวของตัวเอง ก่อนที่จะครบรอบ 10 ปีการเข้ารับตำแหน่งผู้นำสูงสุดของระเทศใน 17 ธันวาคมนี้
การเผยแพร่อุดมการณ์หรือหลักนิยมที่เน้นเชิดชูผู้นำเกาหลีเหนือครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ผ่านมามีการสร้างลัทธิ “Kimilsungism” และ “Kimjongilism” มาแล้วทั้งในสมัยผู้นำรุ่นแรกและรุ่นที่สอง ทั้งหมดนั้นเพื่อยกย่องบทบาทของผู้นำสูงสุดทั้งในฐานะผู้บริหารประเทศและผู้นำกองทัพ ที่ทำให้สังคมนิยมแบบเกาหลีมีความก้าวหน้าและเข้มแข็ง ตลอดจนแสดงความเข้มแข็งของเกาหลีเหนือ และแยกอุดมการณ์ของเกาหลีเหนือออกจากลัทธิของต่างชาติ โดย “Kimilsungism” นั้นเผยแพร่คู่กับ “ปรัชญาจูเช” ที่แปลว่าการพึ่งพาตนเอง เพื่อสร้างความแตกต่างระหว่างเกาหลีเหนือกับสหภาพโซเวียต จากนั้นก็มี “Kimilsungism-kimjongilism” ที่เปรียบเสมือนการบอกให้ชาวเกาหลีเหนือยอมรับการถ่ายโอนอำนาจและความชอบธรรมในการบริหารประเทศให้กับผู้นำรุ่นต่อไป เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านนั้นราบรื่น หลังจากนั้นไม่นาน ยุคสมัยของ “Kimjongilism” ก็เริ่มต้นและต่อเนื่องมาจนถึงปลายปี 2554
นอกจากนี้ สื่อหลายสำนักตั้งข้อสังเกตว่า การเผยแพร่ “Kimjongunism” นี้จะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทิศทางการดำเนินนโยบายของเกาหลีเหนือด้วยหรือไม่ เพราะยุคสมัยปัจจุบันทำให้เกาหลีเหนือประสบกับความท้าทายมากกว่ายุคสมัยก่อน ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนแน่ ๆ คือ ผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติที่เริ่มเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น ทำให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรม ขาดแคลนอาหาร เผชิญอุทกภัย และระบบสาธารณูปโภคติดขัดอย่างมาก อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์เกือบทุกสำนักประเมินว่า ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือจะยังไม่เปลี่ยนนโยบาย และมุมมองที่ยังมี “ปรัชญาจูเช” และ “นโยบายซอนกุน” หรือกองทัพต้องมาก่อน เป็นพื้นฐานสำคัญ เพราะตัวนายคิม จอง-อึนเองก็ให้ความสำคัญและสนใจการพัฒนาศักยภาพด้านการทหารอย่างมาก ดูจากการที่พัฒนาปืนใหญ่และฐานยิงจรวดอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะพยายามไม่ทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลที่อาจเป็นเงื่อนไขให้นานาชาติเพิ่มการคว่ำบาตรอีกก็ตาม …ดังนั้น แทนที่จะเปลี่ยนแปลง เกาหลีเหนืออาจจะแข็งกร้าวและใช้การทดสอบขีปนาวุธพิสัยใกล้มากขึ้น เพื่อดึงความสนใจจากประชาคมระหว่างประเทศควบคู่กับป้องปรามมิให้มีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองในเกาหลีเหนือ
ถ้าเราลองมองเรื่องนี้โดยตัดเรื่องความอยากสร้างยุคสมัยของตัวเอง เป็นการสร้าง “ความมั่นคง” ก็อาจอธิบายได้ว่า การที่ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือเลือกเปิดเผยให้สื่อต่างประเทศเห็นว่าเขาได้เผยแพร่อุดมการณ์ “Kimjongunism” ในจังหวะนี้ อาจเป็นไปเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวเกาหลีเหนือว่า สถานะผู้นำของเขายังคงแข็งแกร่ง และจะอยู่ไปอีกยาว…จากที่ก่อนหน้านี้มีข่าวลือในสื่อต่างประเทศจำนวนมากที่คาดการณ์ว่าผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือกำลังเผชิญสถานการณ์ไม่สู้ดี เพราะนายคิม จอง-อึนไม่ปรากฏตัวต่อหน้าสื่อมาเป็นระยะเวลานาน ซ้ำภาพออกสื่อที่ปล่อยออกมายังทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่ดู “ผอมลง” จนอาจทำให้คนเชื่อว่าเขามีสุขภาพไม่แข็งแรง และกำลังจะมีการเปลี่ยนตัวผู้นำสูงสุดในเร็ว ๆ นี้
ดังนั้น “Kimjongunism” อาจเป็นวิธีการบอกชาวเกาหลีเหนือและบุคคลใกล้ชิด เฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการบริหารพรรคแรงงานแห่งเกาหลีว่า นายคิม จอง-อึน ยังเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง ไม่ควรมีใครมาเป็นตัวเลือกใหม่แทนเขา และเขาจะเป็น “The Great Leader” ด้วยบุคลิกที่ไม่ยอมใครและเด็ดขาด ที่ทำให้เกาหลีเหนือมีเอกลักษณ์และสามารถเอาตัวรอดจากแรงกดดันจากนานาชาติที่กังวลเกี่ยวกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้ต่อไป
———————————————————