เมื่อฝนตกลงมาปริมาณมาก มักจะเกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ในเมืองเนื่องจากไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งปริมาณน้ำฝนที่มากเกินไป คลองระบายน้ำตื้นเขิน ท่อระบายน้ำอุดตันจากขยะ นอกจากจะท่วมขังแล้ว ยังเป็นน้ำที่เน่าเสียจากสิ่งสกปรกตามท้องถนน ส่งผลเสียต่อสุขภาวะของประชาชนในเมือง สำหรับกรุงเทพมหานครซึ่งมีประชากรกว่า 5.7 ล้านคน มีการสร้างเมืองที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้เกิดการทับถมแหล่งน้ำเพื่อเปลี่ยนเป็นตึกสูง ทุ่งนาเปลี่ยนเป็นหมู่บ้านจัดสรร ป่าคอนกรีตค่อยๆ รุกล้ำไปเรื่อยๆ และเปลี่ยน “พื้นที่สีเขียว” ให้กลายเป็น “พื้นที่ดาดแข็ง” ไม่ว่าจะเป็น ถนนลาดยาง ลานคอนกรีต อาคารสูง จนไม่เหลือพื้นที่ซับน้ำ
เมื่อฝนตกในเมือง น้ำจะไหลลงสู่ท่อเพื่อระบายน้ำ ท่อระบายน้ำนี้จะเปรียบเหมือนกับระบบรากไม้ในพื้นที่เพาะปลูกหรือพื้นที่ป่า โดยระบบรากไม้ที่แทรกอยู่ในดินจะช่วยซับน้ำลงไปในดิน ทำให้ปริมาณน้ำผิวดินลดลง รวมทั้งช่วยอุ้มน้ำไว้ทำให้ดินมีความชุ่มชื้นตลอดทั้งปี แต่เมื่อมีการก่อสร้างและเทคอนกรีตกั้นระหว่างฝนกับดิน ทำให้น้ำฝนไม่สามารถไหลลงดินสู่ระบบน้ำใต้ดินได้ น้ำก็จะไหลอยู่ที่ผิวดินไปลงคลองหรือลงท่อ หากท่อหรือคลองจุไม่ได้ก็จะเกิดการ “ท่วมขังรอระบาย” ดังนั้น พื้นที่เมืองจึงมีความสามารถในการซับน้ำฝนต่ำกว่าพื้นที่ในย่านชานเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวมากกว่า แต่นั่นไม่ได้หมายถึงว่า พื้นที่ในเมืองจะท่วมมากกว่าชานเมือง เพราะความสามารถในการบริหารจัดการน้ำในปัจจุบันทำให้เราสามารถระบายน้ำท่วมภายในเมืองไปสู่พื้นที่สีเขียวบริเวณชานเมืองได้
อย่างไรก็ตาม การระบายน้ำจากเมืองไปสู่ชานเมืองคงไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการจัดการน้ำรอระบายนี้
โดยปกติ การบังคับใช้ผังเมืองมีการกำหนดผังสี เพื่อระบุขอบเขต (zone) ของแต่ละพื้นที่ ให้เหมาะสมกับกิจกรรมเพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เป็นไปตามความเหมาะสม และได้มีการกำหนด “อัตราส่วนพื้นที่โล่งต่อพื้นที่อาคารรวม” หรือ Open space ratio (OSR) ซึ่งกำหนดไว้ว่า “การก่อสร้างอาคารในพื้นที่แห่งใดจะต้องเหลือพื้นที่สีเขียวที่ไม่มีสิ่งก่อสร้าง อยู่นอกชายคาหลังคา และไม่เป็นพื้นที่ดาดแข็ง (ลานคอนกรีต ที่จอดรถ พื้นไม้ ทางเดินลาดยาง) ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือตึกสูงหลายชั้น ก็จำเป็นต้องมีพื้นที่เปิดโล่งนี้อยู่” ทั้งนี้ การกำหนด OSR ของแต่ละ zone จะแตกต่างกัน ในย่านชานเมืองที่เป็นที่อยู่อาศัยความหนาแน่นต่ำ จะมี OSR มากกว่าย่านออฟฟิศ ย่านการค้าขายในกลางเมือง กำหนดเป็นอัตราส่วนต่อขนาดพื้นที่ ตั้งแต่ 3% – 75% นั่นหมายความว่า หากเจ้าของที่ดินขนาด 2 งาน หรือ 800 ตารางเมตร ต้องการสร้างหอพัก ขนาด 1200 ตารางเมตร ในเขตที่มี OSR 20% จะต้องเปิดพื้นที่โล่ง 160 ตารางเมตร และก่อสร้างอาคารได้ 640 ตารางเมตร เป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นละ 600 ตารางเมตร หรือหากต้องการเปิดพื้นที่โล่งมากขึ้น อาจเป็นอาคาร 3 ชั้น ชั้นละ 400 ตารางเมตรก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมหรือข้อบังคับอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดความสูงของย่าน ความสูงของอาคารที่เหมาะสมกับความกว้างถนน การกำหนดระยะร่นของอาคาร และความสามารถในการก่อสร้างพื้นที่อาคาร
ดังนั้น การกำหนด OSR จะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง แม้จะไม่ได้มีขนาดใหญ่สามารถรองรับกิจกรรมได้เท่ากับสวนสาธารณะ และพื้นที่เปิดโล่งเหล่านี้ จะช่วยสร้างทัศนียภาพที่ดีให้กับย่าน และทุกพื้นที่จะมีพื้นที่ซับน้ำลงไปใต้ดิน เป็นการช่วยลดภาระในการระบายน้ำของเมืองได้อีกด้วย นอกจากนี้ พื้นที่ที่เปิดโล่งนี้สามารถพัฒนาไปได้หลายรูปแบบ เช่น พื้นที่สวนส่วนกลางของคอนโดมิเนียม แปลงเกษตรข้างบ้าน ลานปลูกต้นไม้ หรือใช้ร่วมกับระยะร่นของโครงการที่ต้องเว้นไว้เพื่อการเข้าดับเพลิงกรณีเกิดเพลิงใหม้
แม้จะมีการกำหนด OSR เพื่อเปิดพื้นที่โล่งในการใช้ประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของการซับน้ำลงดิน แต่ในทางปฏิบัติมีความแตกต่างไปจากหลักการที่มีอยู่… บ้านหลายหลังจัดการปัญหาหญ้ารกด้วยการเทคอนกรีตทำเป็นลานรอบบ้าน อาคารหลายแห่งต่อเติมและขยายทำให้พื้นที่เปิดโล่งรอบข้างลดลง พื้นที่เปิดโล่งถูกปรับเปลี่ยนเป็นลานจอดรถ ตลาด หรือลานกิจกรรมเพื่อความสะดวกสบายและสะอาดตา ทั้งที่ปกติแล้ว การก่อสร้างอาคารต้องได้รับการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ทำการตรวจสอบความถูกต้องและเหมาะสมในแต่ละย่าน แต่การต่อเติมอาคารเล็กๆ น้อยๆ ภายหลังจากการก่อสร้างอาคารนั้นตรวจสอบได้ยาก ทำให้อาคารและพื้นที่เปิดโล่งได้เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ท่อระบายน้ำยังคงมีขนาดเท่าเดิม รวมถึงคลองรับน้ำที่แคบลง ฝนที่ตกลงไม่ถูกซับลงใต้ดินได้ ทำให้ปัญหาน้ำรอระบายยังคงเกิดขึ้นเรื่อยไป
เมืองของเรากำลังเจอปัญหาไม่สามารถซับน้ำลงดินได้อีก เมืองจึงต้องการระบบการระบายน้ำวิธีอื่นๆ มาช่วยในการระบายน้ำ ทางออกที่ดีรูปแบบหนึ่ง คือ การพัฒนาสวนสาธารณะทั่วเมือง จะช่วยเพิ่มพื้นที่เปิดโล่ง และหนองน้ำในสวนสาธารณะจะช่วยรับน้ำจากอาคารหรือถนนได้ กลายเป็นพื้นที่ “แก้มลิง” ที่ช่วยพักน้ำไว้ก่อนระบายลงแหล่งน้ำต่อไป โดยกรุงเทพมหานครมีแผนเพิ่มพื้นที่สีเขียวมากขึ้นจากการปรับปรุงพื้นที่รกร้างที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ให้เป็นสวนสาธารณะภายใต้โครงการ Bangkok Green 2030 กำหนดให้มีการเปิดสวนสาธารณะเพิ่มอีก 12 แห่งภายในปี 2565 รวมถึงการสร้างอุโมงค์เก็บน้ำขนาดใหญ่ใต้เมือง และการออกมาตรการเชิญชวน ให้อาคารขนาดใหญ่ สร้างพื้นที่เก็บน้ำไว้ในตัวอาคาร โดยหากโครงการใดมีระบบการเก็บน้ำเอื้อประโยชน์ต่อสาธารณะ จะสามารถได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างพื้นที่ใช้สอยได้เพิ่มมากขึ้น
จะเห็นได้ว่า พื้นที่เปิดโล่งและพื้นที่สีเขียวมีความจำเป็นต่อเมืองเป็นอย่างมาก พื้นที่สีเขียวถูกนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตของคนในเมือง โดยกรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ย 69.2 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งน้อยมากหากเทียบกับเมืองหลวงอื่นๆ เช่น มหานครนิวยอร์ก ที่มีความหนาแน่นของประชากร (10,725 คนต่อตารางเมตร) มากกว่ากรุงเทพมหานคร 5 เท่า และถือเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในโลก มีค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียว 16.97 ตารางเมตรต่อคน โดยค่าเฉลี่ยของพื้นที่สีเขียวต่อคนของเมืองที่มีความหนาแน่นตามมาตรฐานอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน อย่างไรก็ตาม การสร้างพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานครมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เพราะพื้นที่รกร้างกำลังจะถูกพัฒนาเป็นสวนสาธารณะมากขึ้น เช่น โครงการปรับปรุงโครงสร้างสะพานร้างเป็นสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา, อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โครงการปรับปรุงสนามม้านางเลิ้งเป็นสวนสาธารณะขนาด 261 ไร่, โครงการโกลบอลเกตเวย์ ที่จะพัฒนาสวนสาธารณะ 50 ไร่บนพื้นที่มักกะสัน, โครงการการปรับปรุงสวนเบญจกิตติ รวมถึงโครงการสะพานเขียวที่จะเชื่อมสวนเบญจกิตติและสวนลุมพินี โครงการเหล่านี้ถือว่าเป็นการพัฒนาที่ดี และเป็นการสร้างพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนเมือง
—————————————————