เปิดฉากไปเป็นที่เรียบร้อยกับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UN Framework Convention on Climate Change: Conference of Parties-UNFCCC: COP) ครั้งที่ 26 ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสหราชอาณาจักร หรือ COP26 ซึ่งการประชุมนี้จะสิ้นสุดในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 นี้
โดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นหลังจากต้องล่าช้าไปเป็นเวลา 1 ปีเต็มจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 เมื่อปีที่แล้ว ทั้งนี้มีผู้นำจากหลากหลายประเทศทั่วโลกกว่า 197 ประเทศ รวมถึงองค์การระหว่างประเทศ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนองค์การนอกภาครัฐที่ขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมการประชุมนี้ด้วย
ทั้งนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยได้เดินทางไปร่วมประชุมนี้ด้วยตัวเองด้วย ซึ่งถือเป็นการเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกหลังเกิดการระบาดของโควิด19
สำหรับการประชุมในครั้งนี้คาดว่าจะเป็นการนำเสนอความคืบหน้าของแต่ละประเทศในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงนำเสนอแผนการเพิ่มเติมเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหานี้ตามเป้าประสงค์ของข้อตกลงปารีส ที่ต้องการยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
ฉะนั้นเวทีนี้จึงเป็นเวทีสำคัญในการแสดงวิสัยทัศน์ของประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับนโยบายการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการวางเป้าหมายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ประเทศไทยวางเป้าหมายสู่ Net Zero Emission ภายในปี 2608
แน่นอนว่าเป้าหมายนี้มีความท้าทายอย่างยิ่ง และถือเป็นความหวังสำคัญในการกำหนดทิศทางการวางนโยบายการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมในอนาคต เพื่อให้เป้าหมายนี้ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามเป้าหมายนี้ก่อให้เกิดข้อกังขาอยู่ โดยเฉพาะระยะเวลาที่ค่อนข้างจะล่าช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ และความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบต่าง ๆ จากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
กล่าวคือหากเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่มีการประกาศเป้าหมายสู่ Net Zero Emission ตามรายงานของ Energy & Climate Intelligence Unit พบว่าประเทศไทยอาจมีเป้าหมายที่นานที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ที่ช้าที่สุดอยู่ที่ราวปี 2603 เช่นจีน และอินโดนีเซีย เป็นต้น
น่าสนใจว่าจากข้อมูลดังกล่าว ไทยกลายเป็นประเทศสุดท้ายในอาเซียนที่ใช้เวลาในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission นานที่สุด ทั้งที่ข้อมูลการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนในอาเซียนพบว่าเราปล่อยคาร์บอนสูงเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียนในปี 2562 เป็นรองอินโดนีเซีย และเวียดนาม
ภาพข้างต้นชี้ว่า อินโดนีเซียนั้นมีเป้าหมายที่จะบรรลุ Net Zero Emission เร็วกว่าไทยถึง 5 ปีเต็ม ทั้งที่ภาคเศรษฐกิจหลายอย่างของอินโดนีเซียมีการปลดปล่อยคาร์บอนจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคพลังงานที่พึ่งพิงพลังงานถ่านหินอยู่มาก ในขณะที่ประเทศไทยการผลิตพลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจากก๊าซธรรมชาติซึ่งปลดปล่อยคาร์บอนจำนวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับถ่านหิน
ฉะนั้นหากพิจารณาเปรียบเทียบไทยกับอินโดนีเซียเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่าแผนและเป้าหมาย Net Zero Emission ปี 2608 ของไทยอาจล่าช้าเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ที่สำคัญอาจไม่ทันต่อเป้าหมายที่ประชาคมโลกต้องการบรรลุ
เพราะการพยากรณ์ทางวิทยาศาสตร์พบว่าโลกจะสามารถลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้นั้นจำเป็นต้องส่งเสริมให้ทุกประเทศมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Emission ให้ได้ภายในปี 2593 ในขณะเดียวกันเมื่อพูดในเชิงความเสี่ยงจากผลกระทบ เราพบว่าไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ 8 ของโลกที่จะได้รับผลกระทบระยะยาวจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศตามรายงานของ Global Climate Risk ปี 2563
ดังนั้นหากพิจารณาจากความท้าทายข้างต้นที่เป็นทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศไทย เราคงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการปรับเปลี่ยนแผนและล่นระยะเวลาในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ของประเทศ ซึ่งนอกจากจะเป็นการให้ความร่วมมือกับนานาชาติแล้ว ยังเป็นการป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของเราอีกด้วย
ผู้เขียน
ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
กำลังศึกษาปริญญาเอกที่คณะการจัดการ และทำงานเป็นนักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแถบและเส้นทาง มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน สนใจประเด็นการต่างประเทศ การเมือง และการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียใต้และจีน