เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ประเทศอินเดียมีการเฉลิมฉลองเทศกาลดิวาลี หรือเทศกาลแห่งแสงไฟของศาสนาฮินดู ตลอดจนซิกข์และเชน ที่ฉลองในฤดูใบไม้ร่วง มีการใช้แสงสว่างเพื่อแสดงถึงชัยชนะเหนือความมืดมิด และความดีเหนือความชั่ว ซึ่งถือเป็นเทศกาลใหญ่ที่สุดเทศกาลหนึ่งของประเทศ ประชาชนชาวฮินดูทุกหลังคาเรือนจะออกมาเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งแสงสว่างนี้ด้วยการจุดตะเกียงหรือจุดพลุ
อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีว่าภายหลังสิ้นสุดเทศกาลดิวาลีนี้ ก็เหมือนเป็นสัญญาณว่าอินเดียจะเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ และที่สำคัญกว่านั้นคือมันเป็นช่วงที่เมืองต่าง ๆ ในประเทศอินเดียจะเริ่มเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลานี้
หลายปีที่ผ่านมาเริ่มมีการศึกษาพบว่าการจุดพลุในช่วงเทศกาลดิวาลีถือเป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ปัญหามลพิษทางอากาศในอินเดียรุนแรงมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ ฉะนั้นรัฐบาลของรัฐต่าง ๆ จึงพยายามอย่างมากในการออกมาตรการควบคุมการจุดพลุ
แน่นอนว่าการจุดพลุเป็นเพียงแค่สาเหตุหนึ่งเท่านั้น เพราะปัญหาที่แท้จริงของมลพิษทางอากาศในอินเดียนั้นยังมีต้นเหตุมาจากการใช้เครื่องยนต์เก่าของบรรดายานพาหนะต่าง ๆ การเผาวัชพืชจากการทำเกษตรของรัฐทางตอนเหนือ ตลอดจนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ปลดปล่อยมลพิษมหาศาล
หากถามว่ามลพิษทางอากาศของอินเดียนั้นหนักหนาเพียงใด ให้ลองจินตนาการแบบนี้ครับว่า หากค่าเฉลี่ยมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับคุณภาพอากาศอยู่ที่ราว 50 AQI ค่าเฉลี่ยคุณภาพอากาศของอินเดียนั้นสูงกว่ามาตรฐานถึง 5.2 เท่า
และเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสถานการณ์คุณภาพอากาศของอินเดียก็กลับมาย่ำแย่อีกครั้งโดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างกรุงนิวเดลีที่ล่าสุดต้องมีการออกมาตรการปิดโรงเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้เด็ก ๆ ในกรุงนิวเดลีต้องรับความเสี่ยงจากคุณภาพอากาศย่ำแย่นี้
มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศที่ย่ำแย่ของอินเดียอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 และผ่านมากว่า 20 ปีเต็ม สถานการณ์คุณภาพกลับดูจะย่ำแย่มากกว่าเดิม และในทุก ๆ ปี คนอินเดียก็สูญเสียชีวิตไปกับปัญหาคุณภาพอากาศนี้
ข้อมูลการศึกษาผลกระทบของคุณภาพอากาศต่อสุขภาพของประชาชนทั่วโลกโดยวารสาร The Lancet ค้นพบว่า อินเดียนั้นอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลกจาก 97 ประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศย่ำแย่จนเป็นภัยต่อระบบสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเมืองหลวงกรุงนิวเดลีที่เดียวก็มีมลพิษทางอากาศมากกว่า 400 AQI ซึ่งถือว่าสูงมาก
สถานการณ์มลพิษของอินเดียเช่นนี้ส่งผลให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางทั้งเด็กและผู้สูงอายุอยู่ในความเสี่ยงอย่างมาก เพราะปัญหามลพิษดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง PM 2.5 ที่นอกจากจะเข้าไปทำลายระบบทางเดินหายใจแล้ว ยังสามารถแทรกเข้าไปในระบบไหลเวียนเลือดได้ด้วย
การวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าปัญหามลพิษทางอากาศจะส่งผลในระยะยาวสำหรับเด็ก ๆ ทุกคน ซึ่งปัจจุบันกว่าร้อยละ 93 ของเด็กทั่วโลกเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศ
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหามลพิษกำลังกลายเป็นภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงมนุษย์ที่สำคัญอย่างมากสำหรับอินเดีย ลักษณะเช่นนี้ย่อมหมายถึงสุขภาพอนามัยของแรงงานอินเดียในอนาคตที่อาจเจอกับหลากหลายปัญหามากยิ่งขึ้นจากผลกระทบของ PM 2.5 ในช่วงเวลานี้
อ้างอิง
– https://www.thelancet.com/journals/langlo/article/PIIS2214-109X(20)30063-2/fulltext
– https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/32779283/
ผู้เขียน
ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
กำลังศึกษาปริญญาเอกที่คณะการจัดการ และทำงานเป็นนักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแถบและเส้นทาง มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน สนใจประเด็นการต่างประเทศ การเมือง และการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียใต้และจีน