นับตั้งแต่ชาวโลกเริ่มได้ยินเรื่องของเชื้อไวรัสซาร์สสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ที่ระบาดในจีนตั้งแต่ธันวาคม 2562 ปัจจุบันก็เกือบจะครบรอบ 2 ปีแล้วที่เราอยู่กับโรค COVID-19 หลายชีวิตที่จากไป ธุรกิจมากมายที่ล้มลง และอีกหลายหลายผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยไม่มีพื้นที่และมิติใดของสังคมที่หลบเลี่ยงไปได้ วิกฤตครั้งนี้คือเหตุการณ์ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตมนุษย์อย่างมากมายที่สุดในรอบศตวรรษ และจริงอยู่ที่ว่าผลกระทบก็ยังดำเนินต่อเนื่อง แต่หากมองผ่านกรอบแว่นของผู้ศรัทธาในความเป็นมนุษย์และทฤษฎีวิวัฒนาการ ที่เชื่อว่าความพิเศษของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์คือการปรับตัวและวิวัฒน์ให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ตอนนี้ก็คงจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องข้ามให้พ้นโลกยุค COVID-19 คือการมองไปข้างหน้าว่าโลกหลังยุค COVID-19 จะเป็นเช่นใด และเราจะอยู่กับโลกแบบนั้นอย่างไร
1. โลกของ “ปัจเจกที่รวมกลุ่มกันตามความสมัครใจอย่างไร้พรมแดน”
การก่อกำเนิดและเติบโตของสื่อสังคมออนไลน์ตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษที่ ๒๑ (พ.ศ.๒๕๔๓) จนถึงปัจจุบัน นํามาซึ่งการเสื่อมถอยของการผูกขาดอำนาจรัฐด้านการใช้สื่อเพื่อกำหนดอัตลักษณ์และค่านิยมร่วมกันของสังคม จากการที่สื่อสังคมออนไลน์ทําให้รัฐสูญเสียอํานาจในการผูกขาดสื่อมวลชนที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดแนวทางการเล่าเรื่อง (narrative) กลุ่มคนชายขอบที่ไม่เคยมีที่ยืนในสังคมสามารถครอบครองสื่อสังคมออนไลน์และรวมกลุ่มกันได้โดยไม่ต้องมีต้นทุน สังคมโลกยุคใหม่จึงเต็มไปด้วยอัตลักษณ์และค่านิยมหลากหลาย ทั้งที่เคยถูกกดทับไว้ และที่เพิ่งถือกําเนิดขึ้นมา “ปัจเจกที่รวมกลุ่มกันตามสมัครใจอย่างไร้พรมแดน” เป็นตัวแสดงที่เพิ่มบทบาทจนอาจจะเป็นตัวแสดงหลักของสังคมระหว่างประเทศในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อถูกเสริมแรงด้วยวิกฤตโรค COVID-19 ที่ทำให้ปัจเจกบางกลุ่มสูญเสียความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐ
2. การรุกกลับของรัฐ
แต่ในอีกทางหนึ่ง วิกฤตโรค COVID-19 ก็เป็นเหตุผลที่ดีที่รัฐใช้อ้างความชอบธรรมในการทวงคืนและเพิ่มพูนอำนาจรัฐที่เริ่มเสื่อมถอยหลังจากที่แนวคิดโลกาภิวัตน์โดดเด่นขึ้นมาเป็นกระแสหลักที่ใช้อธิบายลักษณะของสังคมโลกห้วงทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา โดยมีสื่อมวลชนและเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเร่งสังคมโลกหลอมรวมเป็นสังคมเดียวกันที่ไร้พรมแดน แต่การอุบัติของโรค COVID-19 ทำให้เส้นเขตแดนที่เริ่มเลือนสลายกลับชัดเจนและเข้มข้นยิ่งขึ้น รัฐแต่ละรัฐกลับไปตระหนักถึงสภาพความเป็นอนาธิปไตยของประชาคมระหว่างประเทศ ที่“การต่อสู้เพื่อความอยู่รอด” จะสำเร็จได้ก็ด้วยการพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก ภายใต้การมีรัฐที่เข้มแข็งเพื่อโอบอุ้มช่วยเหลือประชาชน ด้วยการต่อสู้ฟาดฟันและปกป้องชายแดนอย่างเข้มแข็งจากการรุกรานของโรคระบาดที่รุกรานมาจากต่างประเทศ
วิกฤตโรค COVID-19 ยังเป็นโอกาสที่รัฐสามารถฉกฉวยเพิ่มพูนความเข้มแข็ง และแสดงอำนาจรัฐให้เด่นชัดขึ้น โดยใช้เหตุผลของการควบคุมโรคระบาด เช่น การกำหนดกฎเกณฑ์ เอกสาร ขั้นตอน เพื่อควบคุมการเดินทางของประชาชน ให้มีระเบียบซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งในทางหนึ่งเป็นความจำเป็นเพื่อการควบคุมโรค ส่วนในอีกทางหนึ่งก็อาจสร้างสภาพให้ประชาชนคุ้นเคยกับการยอมรับอำนาจรัฐ
3. เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตคือของจริง
คำกริยาที่ภาษาไทยใช้กับการใช้งานอินเทอร์เน็ต คือ “เล่น” ซึ่งก็พอจะบอกให้รู้ได้ว่าแรกเริ่มเดิมทีคนไทยไม่ได้มองเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องจริงจังนัก ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่ต่างจากสังคมอเมริกันศูนย์กลางการพัฒนาอินเทอร์เน็ต ที่หลังจากการแตกสลายของฟองสบู่ดอทคอม (dotcom bubble หรือยุคเฟื่องฟูของอินเทอร์เน็ตยุคแรกราวปี 2538) ที่กระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ชาวอเมริกันจำนวนหนึ่งมองว่าเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเป็นเพียงกระแสชั่วคราว หรือเป็นเพียงของเล่น ที่สักพักก็จะมีเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาเป็นกระแสแทนที่
เวลาผ่านมาหลายสิบปี อินเทอร์เน็ตพิสูจน์ตัวเองให้เห็นแล้วว่ามีความสำคัญต่อสังคมมนุษย์อย่างจริงจัง แต่ว่าที่ผ่านมามนุษย์ก็ไม่ได้มีบทเรียนหรือประสบการณ์สักเท่าไหร่จึงนึกภาพไม่ออกว่าถ้าขาดอินเทอร์เน็ตแล้วชีวิตจะเป็นเช่นไร และส่วนใหญ่เห็นอินเทอร์เน็ตเป็นเพียงของเล่น หรือมากกว่านั้นก็แค่สิ่งอำนวยความสะดวก จนกระทั่งการมาถึงของวิกฤตโรค COVID-19 ที่ทำให้การพบปะทางกายภาพกลายเป็นเรื่องต้องห้าม มนุษย์จึงถูกบังคับให้ต้องนำเอาเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมาใช้เป็นกลไกสำคัญในการดำรงชีวิตทุกมิติ ไล่ตั้งแต่ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ (สั่งอาหารผ่านแอพ พบแพทย์ออนไลน์ ฯลฯ) ไปจนถึงการขับเคลื่อนสังคมมนุษย์ไปข้างหน้า (การ work from home การประชุมผู้นำโลกแบบ virtual summit ฯลฯ) วิกฤตโรค COVID-19 จึงทำให้ถึงเวลาที่มนุษย์ต้องยอมรับแล้วว่า เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตก้าวข้ามการเป็นกิจกรรมนันทนาการ และไม่ใช่เพียงสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีก็ดีแต่ไม่มีก็ได้ แต่เป็น“ของจริง” ที่จะดำรงอยู่และมนุษย์ต้องเป็นส่วนหนึ่งของมันไม่ว่าจะชื่นชอบหรือเกลียดชัง
——————————————–