เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา หน่วยงานด้านความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา เสนอรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงระหว่างจีน-อินเดียต่อสภาคองเกรส โดยเอกสารฉบับดังกล่าวนั้นมีการกล่าวถึงปัญหาข้อพิพาทระหว่างสองประเทศ ไปจนถึงการเจรจาเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาทางด้านพรมแดนระหว่างกัน
.
เอกสารดังกล่าวระบุว่า “ความก้าวหน้าในการเจรจาเรื่องพรมแดนระหว่างจีน-อินเดียนั้น มีอยู่อย่างจำกัด พร้อมระบุว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากฝั่งจีนเป็นสำคัญ” แต่ที่ถือเป็นจุดเน้นสำคัญของเอกสารฉบับนี้คือการระบุว่า จีนมีความพยายามในการกดดันอินเดียอย่างมากและใช้ยุทธวิธีมากมายเพื่อครอบครองดินแดนพิพาท
.
และที่ปรากฏในเอกสารคือการจัดตั้งหมู่บ้านของพลเรือนตามแนวพรมแดนพิพาทระหว่างจีน-อินเดีย ทั้งนี้เอกสารยังลงรายละเอียดว่าจีนได้มีการตั้งหมู่บ้านในเขตพิพาทระหว่างสอง ประเทศด้วย นั่นคือในดินแดนรัฐอรุณาจัลประเทศ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ดังกล่าว
.
เมื่อเอกสารฉบับดังกล่าวได้เผยแพร่ออกมาไม่นานนัก สำนักข่าวและผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคงระหว่างประเทศได้มีการสำรวจพื้นที่บริเวณรัฐอรุณาจัลประเทศอีกครั้งอย่างละเอียด ซึ่งข้อมูลตามการรายงานของฝั่งอินเดียพบสิ่งผิดปกติมากมาย
.
กล่าวคือจากการสำรวจจากภาพถ่ายทางดาวเทียม พบว่าในบริเวณพื้นที่พิพาทเหนือรัฐอรุณาจัลประเทศนั้น มีหมู่บ้านของจีนเกิดขึ้นใหม่จำนวนหลายหลังคาเรือน จากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำว่าหมู่บ้านเหล่านี้ถูกจัดตั้งเลยออกมาจาก “เส้นควบคุมตามจริง (Line of Actual Control)” เข้ามาในฝั่งอินเดีย
.
แม้ว่าจะมีการทำรายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องการสร้างหมู่บ้านของจีนตามแนวพรมแดนของอินเดีย หรือแม้กระทั่งบางส่วนถูกมองว่าล้ำเข้ามาในเขตของอินเดียด้วยซ้ำ สิ่งที่น่าสนใจคือหน่วยงานของอินเดียมักปฏิเสธเรื่องที่เกิดขึ้น
.
ยกตัวอย่างเช่นสำนักข่าว NDTV ของอินเดียได้สอบถามถึงเรื่องดังกล่าวไปยังกองทัพบกของอินเดีย ซึ่งได้ตอบกลับมาว่า “พื้นที่ดังกล่าวตามพิกัดอ้างอิงนั้นอยู่บริเวณตอนเหนือของเส้นควบคุมตามจริงซึ่งอยู่ในอาณาเขตของจีน”
.
นอกจากการตอบข้อสงสัยดังกล่าวจากทางกองทัพอินเดียแล้ว ไม่มีหน่วยงานอื่นใดของรัฐบาลอินเดียให้คำตอบต่อเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม จึงยังคงเป็นที่สงสัยกันอยู่ว่าสุดท้ายแล้วหมู่บ้านจำนวนมากที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ในเขตของอินเดียหรือไม่
.
แม้ว่าปริศนาดังกล่าวจะยังไม่ถูกไขให้กระจ่างชัด แต่เป็นที่ยอมรับกันว่านับตั้งแต่อินเดียเกิดปัญหาการเผชิญหน้ากันเมื่อปี 2563 รัฐบาลจีนได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านความมั่นคงตามแนวพรมแดนทิเบตกับอินเดียอย่างมาก มีการปฏิรูประบบกองทัพใหม่ ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ตามแนวชายแดน
.
และหนึ่งในโครงการสำคัญคือการส่งเสริมการสร้างที่อยู่อาศัยของประชาชนตามแนวชายแดนกับอินเดีย ซึ่งในมุมหนึ่งคือการเพิ่มความกินดีอยู่ดีให้ประชาชนจีนตามนโยบายแก้จนของรัฐบาล แต่อีกด้านมันคือความพยายามในการใช้พลเรือนเพื่ออ้างสิทธิเหนือดินแดนพิพาทของจีนด้วย
.
น่าสนใจว่าอินเดียในวันนี้ยังคงมีท่าทีไม่ชัดเจน และออกจะปฏิเสธที่กำลังเกิดขึ้นในบริเวณพรมแดนรัฐอรุณาจัลประเทศอยู่ ทั้งที่หลายปีที่ผ่านมานโยบายของจีนค่อนข้างชัดเจนมากในการพัฒนาพื้นที่พรมแดน แม้กระทั่งพื้นที่พิพาทเมื่อปี 2563 ปัจจุบันจีนได้มีการพัฒนาถนนและโครงข่ายโทรคมนาคมอีกครั้งด้วย
.
ในอนาคตจึงมีความเป็นไปได้ว่าปัญหาหมู่บ้านดังกล่าวจะกลายเป็นชนวนสำคัญของปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อินเดีย ซึ่งรอเพียงว่าอินเดียจะหยิบใช้เรื่องเหล่านี้ขึ้นมาเมื่อไหร่ ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นความตึงเครียดในภูมิภาคเอเชียใต้คงกลับมาอีกครั้งหนึ่ง
.
ผู้เขียน
ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
กำลังศึกษาปริญญาเอกที่คณะการจัดการ และทำงานเป็นนักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแถบและเส้นทาง มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน สนใจประเด็นการต่างประเทศ การเมือง และพลังงานในภูมิภาคเอเชียใต้และจีน