ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศยืนยันอย่างเป็นทางการเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2564 ว่า ประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดนของสหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำประชาธิปไตย หรือ Summits for Democracy ระหว่าง 9-10 ธันวาคม 2564 โดยเป็นการประชุมแบบออนไลน์ ที่สหรัฐฯ เชิญผู้นำต่างประเทศ ผู้นำภาคประชาสังคม และภาคเอกชนเข้าร่วม เพื่อร่วมกันฟื้นฟูค่านิยมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนให้แข็งแกร่ง ควบคู่ไปกับต่อต้านค่านิยมเผด็จการและอำนาจนิยม และการคอร์รัปชัน
การประชุม Summits for Democracy นี้เป็นการประชุมครั้งแรก และจะถือว่าเป็นความคืบหน้าของประธานาธิบดีไบเดนที่จะ “ทำตามสัญญา” เพราะเขาได้หาเสียงไว้ตั้งแต่ก่อนชนะการเลือกตั้งว่าจะจัดการประชุมดังกล่าว เพื่อรวมผู้ที่สนับสนุนประชาธิปไตยและมีค่านิยมสอดคล้องกับสหรัฐฯ ให้มาร่วมแสดงพลังด้วยการแถลงนโยบาย ให้คำมั่น เสนอแผนปฏิรูป รวมทั้งหารือกันเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายที่ประชาธิปไตยกำลังเผชิญ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ผูกโยงอยู่กับประเด็น “ประชาธิปไตย” และ “สิทธิมนุษยชน” ตลอดจนกำหนดเป้าหมายใหม่ ๆ ไปด้วยกัน
นอกจากนี้ การประชุมดังกล่าวยังเป็นโอกาสให้สหรัฐฯ ได้สร้างความสัมพันธ์กับรัฐบาลประเทศอื่น ๆ รวมไปถึงภาคประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศ และภาคเอกชนที่สามารถแสดงบทบาทในเรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตยด้วย นี่คือตัวอย่างของความพยายามแก้ไขปัญหาใหญ่ ๆ อย่างครอบคลุม (inclusive) คือ ให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจังและเท่าเทียม ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้จัดการหารือกับองค์กรภายในประเทศไปแล้ว เพื่อที่จะเตรียมความพร้อมและระดมความเห็นเพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุดในการฟื้นฟูประชาธิปไตยในสหรัฐฯ รวมทั้งในต่างประเทศ
คำถามแรกของเราหลังจากเห็นความคืบหน้าในการประชุมครั้งนี้ คือ ทำไมสหรัฐฯ ถึงต้องจัดการประชุม Summits for Democracy ในตอนนี้? เหตุผลแรก คงไม่พ้นเรื่องของการ “ฟื้นฟู” ความเชื่อมั่นของชาวอเมริกันต่อระบอบและสถาบันประชาธิปไตยในสหรัฐฯ …ไม่ใช่ว่าสหรัฐฯ กำลังจะสูญเสียประชาธิปไตยหรือจะมีการเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบใหม่ แต่เหตุการณ์บุกรุกอาคารรัฐสภาเมื่อต้นปี 2564 กลายเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าประชาธิปไตยในสหรัฐฯ กำลังถดถอยอย่างอันตราย และต้องการการฟื้นฟูโดยด่วน
ส่วนเหตุผลที่สองที่ทำให้สหรัฐฯ ต้องหยิบเอาเรื่องอุดมการณ์ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนขึ้นมาเป็นประเด็นระดับโลก ก็เพราะ “การผงาดขึ้นของจีน” ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่จีนท็อปฟอร์มเรื่องการจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้สหรัฐฯ กังวลว่า จีนจะกลายเป็นแบบอย่างการเติบโตและก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจโดยไม่จำเป็นต้องมีประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเป็นเงื่อนไข แต่เป็น “เผด็จการ” และ “อำนาจนิยม” ต่างหากที่จะทำให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อันที่จริง…จีนย้ำเสมอว่าจีนเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นประชาธิปไตยแบบจีน ที่ไม่ต้องเหมือนใคร และไม่ต้องให้ใครมาวิจารณ์ว่าถูกผิดหรือไม่ ตราบใดที่ชาวจีนมีสิทธิ เสรีภาพ และมีความเป็นอยู่ที่ดี
คำถามที่สอง ใครได้รับเชิญให้เข้าร่วม? …เมื่อเปิดดูตารางรายชื่อประเทศและเขตปกครองทั้ง 111 แห่งที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวจะพบประเด็นที่น่าสนใจอันดับแรก คือ “ไต้หวัน” ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย เช่นเดียวกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่น ๆ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และติมอร์ เลสเต รวมทั้งเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย (สมาชิก QUAD มาทั้งทีม) ซึ่งเรื่องสหรัฐฯ เชิญไต้หวันเข้าร่วมการประชุม Summits for Democracy ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนต่างประเทศอย่างมาก เพราะเป็นการยั่วยุจีนให้ออกมาแสดงท่าทีไม่พอใจและตอบโต้สหรัฐฯ ส่วนอีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ ฟิลิปปินส์ อินเดีย บราซิล และโปแลนด์ ซึ่งถูกวิจารณ์เชิงลบว่าประชาธิปไตยถดถอยและมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ส่วนคองโกและปากีสถานที่เป็นประชาธิปไตยแต่มีแนวปฏิบัติที่เข้าข่ายอำนาจนิยมก็ได้รับเชิญเช่นกัน ทั้งนี้ มีการประเมินว่าสหรัฐฯ เลือกเชิญประเทศโดยมีปัจจัยกำหนด ได้แก่ ผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ กับแต่ละประเทศ และประเทศที่กำลังจะมีการเลือกตั้งในปี 2565 สำหรับไทยและสิงคโปร์ไม่ได้อยู่ในรายชื่อประเทศที่ได้รับเชิญ ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์อธิบายเรื่องนี้สั้นๆ กับผู้สื่อข่าวว่า “สิงคโปร์ไม่ได้รับเชิญ” ส่วนฟิลิปปินส์ที่ได้รับเชิญก็ยังบอกว่ายังไม่แน่ใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ย้ำแล้วย้ำอีกว่า การเชิญหรือไม่เชิญประเทศต่าง ๆ ครั้งนี้ไม่ได้เป็นการบ่งชี้ว่า สหรัฐฯ รับรองหรือไม่รับรองประชาธิปไตยในประเทศไหน แต่สหรัฐฯ เน้นเชิญประเทศที่มีพัฒนาการทางการเมืองที่น่าสนใจ เผชิญประสบการณ์ทางการเมืองที่หลากหลาย และเชิญประเทศจากหลาย ๆ ภูมิภาค นอกจากนี้ ประเทศที่ได้รับเชิญจะต้องให้คำมั่นหรือแถลงนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน หรือประกาศแนวทางที่จะฟื้นฟูสิทธิและเสรีภาพในประเทศด้วย
คำถามที่สาม การประชุม Summits for Democracy จะนำไปสู่อะไร? หลายฝ่ายประเมินแล้วว่านี่คือการก่อร่าง “New Cold War” หรือสงครามเย็นครั้งใหม่ ที่แยกแยะโลกเป็น 2 ฝ่าย คือ ประชาธิปไตยและอำนาจนิยม และทั้ง 2 ฝ่ายจะรวมกลุ่มกันเพื่อสกัดกั้นความรุ่งเรืองของฝ่ายตรงกันข้าม
อย่างไรก็ดี บางส่วนก็คาดหวังไปในทิศทางอื่น ๆ เช่น อยากจะเห็นผลลัพธ์การประชุมที่เป็นรูปธรรม มีแผนการหารือ กำหนดแนวทางปฏิบัติที่จะทำได้จริงเพื่อ revitalize หรือฟื้นฟูประชาธิปไตยแบบ inside-out เพราะประเทศที่ตอบรับเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวอาจไม่ต้องการให้ประชุมนี้กลายเป็นเวทีสร้างความขัดแย้ง หรือสร้างความแตกแยกระดับโลก แต่อาจต้องการทำให้เห็นว่าประเทศตัวเองเป็นประชาธิปไตยมากพอที่จะทำให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2565 ราบรื่นและได้รับการยอมรับจากประชาชน ด้านองค์กร Freedom House ระบุว่าสหรัฐฯ ไม่ควรจะทำให้การประชุมครั้งนี้สร้างความเข้าใจผิด ๆ ให้กับประเทศที่ได้เข้าร่วมและไม่ได้เข้าร่วม แต่ควรเน้นที่การสร้างคำมั่น หรือการกำหนดแผนการที่จริงจังในการฟื้นฟูสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย
นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ที่การประชุมดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นการตั้งกลุ่มความร่วมมือในการกำหนดมาตรฐานการใช้อินเทอร์เน็ตและปัญญาประดิษฐ์ เพราะสหรัฐฯ และประเทศยุโรปต้องการยกระดับการปกป้องการเมืองภายในประเทศจากการแทรกแซงโดยกิจกรรมที่เป็น non-military activities เช่น การปล่อยข่าวปลอม (fake news) และข้อมูลบิดเบือน การปิดกั้นเสรีภาพในการใช้อินเทอร์เน็ต การโจมตีทางไซเบอร์ และการแทรกแซงการเลือกตั้ง ดังนั้น ผลการประชุมครั้งนี้อาจมีการตั้งคณะทำงานด้านเทคโนโลยี การให้ประเทศต่าง ๆ เสนอแนวทางปกป้องประชาธิปไตยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ และส่งเสริมค่านิยม รวมทั้งความร่วมมือในการค้ำประกันเสรีภาพในการใช้อินเทอร์เน็ตในชื่อกลุ่ม The Alliance for the Future of the Internet ที่สหรัฐฯ เคยเสนอ
ไม่ว่าผลการประชุมจะออกมาในรูปแบบใด การประชุมครั้งนี้จะเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่สร้างผลงานให้ประธานาธิบดีไบเดน และอาจมีผลลัพธ์ที่ทำให้บรรยากาศการเมืองระหว่างประเทศซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยควรติดตามอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ “ประชาธิปไตย” กับรัฐบาลไทยเป็นของคู่กัน ดังนั้น ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากหากรัฐบาลไทยจะมีคำอธิบายต่อสื่อมวลชนและประชาชนเกี่ยวกับท่าทีของไทยต่อการประชุมครั้งนี้ พร้อม ๆ ไปกับการสร้างความเชื่อมั่นว่าไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐฯ และสหรัฐฯ เองก็เข้าใจการเมืองไทย เพราะการให้คำอธิบายที่ทันท่วงทีและหนักแน่นต่อสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศน่าจะเป็นขั้นตอนสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจระหว่างประชาชนกับรัฐบาล รวมทั้งยังดีกว่าปล่อยให้ต้องคาดเดากันไปเองว่าทำไมไทยไม่ได้เข้าร่วมการประชุมนี้
—————————————————-