กรณีข้อกล่าวหาเรื่องการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นกับเผิง ฉ่วย นักเทนนิสสาวชาวจีน อดีตมือวางอันดับ 1 ของโลกในประเภทคู่ กลายเป็นแรงกดดันต่อรัฐบาลจีน เพราะคู่กรณีที่เธอกล่าวหาเป็นถึงอดีตรองนายกรัฐมนตรีจีน และอดีตกรรมการประจำกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน คือจาง เกาลี่ ที่ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีห้วงปี 2556-2561
เผิง ฉ่วย เผยแพร่ข้อความทางเว๋ยป๋อ (สื่อสังคมออนไลน์ของจีน) ตั้งแต่ 2 พฤศจิกายน 2564 ว่าเคยคบหากับจางเกาลี่เมื่อ 7 ปีก่อน แต่โดนทิ้ง จนกระทั่งเมื่อ 3 ปีที่แล้วได้ถูกกดดันให้มีเพศสัมพันธ์ นำไปสู่การคบหากันอีกครั้ง แล้วก็โดนทิ้งอีกครั้ง
ไม่นานนักข้อความของเธอถูกลบทิ้งไป และชื่อของเธอถูกเซ็นเซอร์ไม่ให้พูดถึงบนสื่อสังคมออนไลน์ของจีน เผิง ฉ่วยหายไปจากสื่อและพื้นที่สาธารณะ การที่เธอเป็นนักกีฬาระดับโลก นำมาซึ่งความเป็นห่วงจากทั่วโลก โดยเฉพาะวงการเทนนิส ที่นักกีฬาระดับโลกเพื่อนร่วมอาชีพของเผิง ฉ่วย รวมทั้งเซเรนา วิลเลียมส์ ช่วยกันผลักดันแฮชแท็ก #WhereIsPengShuai เพื่อช่วยกันตามหาตัวเพื่อน จนกลายเป็นกระแสระดับโลก สมาคมนักเทนนิสหญิง (Women’s Tennis Association-WTA) เรียกร้องให้ทางการจีนเปิดเผยถึงสวัสดิภาพของเผิง ฉ่วย ไปจนถึงสำนักงานสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติที่ขอให้มีการสอบสวนอย่างโปร่งใส
โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนแถลงปฏิเสธว่าไม่ทราบเรื่องดังกล่าว และไม่ใช่เรื่องของกิจการระหว่างประเทศ และหลังจากนั้นไม่นานนัก ชาวโลกก็ได้โล่งใจว่าเผิง ฉ่วย ยังปลอดภัยดี เมื่อสื่อของทางการจีนเผยแพร่อีเมลที่เธอเขียนถึงชาวโลก และตามด้วยคลิปวิดีโอขณะเธอสังสรรค์กับเพื่อน
การปรากฏตัวต่อสาธารณชนทำให้สถานการณ์ดูเหมือนจะคลี่คลาย แต่เรื่องคงจะไม่จบแค่นั้น โดยเฉพาะเมื่อคำถามหลายคำถามยังไม่ได้รับคำตอบ รวมทั้งคำถามสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินการต่อข้อกล่าวหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเผอิญว่าเรื่องเกิดขึ้นช่วงเดียวกับที่จีนกำลังถูกวิจารณ์ว่าใช้อำนาจรัฐปิดปากนักกิจกรรมเรียกร้องสิทธิสตรีในจีน (Me Too movement)
ส่วนกรณีที่นาย Steve Simon ผู้บริหารสูงสุดของ WTA กล้าที่จะลุกขึ้นมาชนกับรัฐบาลจีน โดยไม่สนใจผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการที่จีนเป็นตลาดขนาดใหญ่ของกีฬาเทนนิส และเป็นเจ้าภาพการแข่งขันเทนนิสสำคัญหลายรายการ นำมาสู่เสียงชื่นชมในสังคมตะวันตก ขณะเดียวกัน ก็เป็นแรงกระแทกที่กระทบต่อองค์กรกีฬาอื่น ๆ ที่เลือกจะเงียบเสียง โดยเฉพาะประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee-IOC) ที่แถลงว่าขอแก้ไขปัญหาด้วยแนวทาง Quiet Diplomacy จนถูกตำหนิว่าเห็นแก่เงินมากกว่าสวัสดิภาพของนักกีฬา ไปจนถึงกระแสเรียกร้องให้คว่ำบาตรกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ IOC มอบสิทธิให้จีนเป็นเจ้าภาพในปีหน้า
การที่โลกตะวันตกขับเคลื่อนด้วยทุนนิยม ทำให้ที่ผ่านมา องค์กรกีฬาเลือกจะเงียบเสียง ไม่ทำอะไรให้กระทบจีนที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ (เช่น สโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลยกเลิกสัญญากับเมซุต โอซิล นักฟุตบอลเชื้อสายตุรกี ที่วิจารณ์จีนกรณีอุยกูร์) แต่การลุกขึ้นมาชนอย่างกล้าได้กล้าเสียขององค์กรกีฬาขนาดใหญ่อย่าง WTA อาจจะนำไปสู่การตั้งคำถามกับแนวทาง Quiet Diplomacy จนเกิดเป็นมาตรฐานใหม่ของวงการกีฬาโลกที่จีนคงจะไม่สบายใจนัก
—————————