มีม (meme) มาจากคำกรีกคือ “mimema” ที่แปลว่าการเลียนแบบ ส่วน “อินเทอร์เน็ต มีม” คือการที่สาธารณชนใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางเผยแพร่แนวคิดหรือเรื่องราวที่สร้างขึ้นมาเพื่อล้อเลียน โดยมากจะหวังผลในเชิงขำขัน
อารมณ์ขันและการเมืองเป็นของคู่กันมานาน ในมิติหนึ่งคือการเป็นเครื่องมือที่ผู้อยู่ใต้อำนาจใช้เป็นเครื่องมือยั่วแหย่ท้าทายผู้มีอำนาจเหนือกว่า โดยเฉพาะในสังคมที่โครงสร้างอำนาจมีความเหลื่อมล้ำกันมาก และผู้อยู่ข้างล่างถูกกดขี่ไม่เหลือช่องทางแสดงออก ทำให้ “อารมณ์ขัน” ที่ฉาบเคลือบด้วยท่าทีไม่จริงจัง เป็นข้ออ้างสำหรับใช้เป็นช่องทางท้าทายผู้มีอำนาจ ตัวอย่างในบริบทของไทยเช่น ตัวตลกในโขนมักจะใช้ไหวพริบหยิบเอาเหตุบ้านการเมืองมาล้อเลียนเพื่อสร้างความขบขัน หรือในบริบทของตะวันตกคือการ์ตูนการเมืองที่อยู่คู่หน้าหนังสือพิมพ์ทุกสมัย
ด้วยความที่มีมเป็นเรื่องของอารมณ์ขันและการล้อเลียน มีมจึงถูกเอามาใช้ในทางการเมืองเช่นกัน โดยเฉพาะในหมู่คนที่เติบโตมากับอินเทอร์เน็ต (digital native) และรับรู้ข่าวสารทางการเมืองผ่านอินเทอร์เน็ต จึงแสดงออกทางการเมืองผ่านช่องทางใกล้ตัวคืออินเทอร์เน็ต และผ่านเครื่องมือที่ช่ำชองอย่างมีม (หลังสะสมความชำนาญการใช้มีมในสารพัดวงการบันเทิง)
มีมทำให้การเมืองกลายเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นการย่อยสารของวงการการเมืองที่มีภาพลักษณ์ของความเคร่งเครียด ให้กลายเป็นเรื่องเบา ๆ และเข้าถึงคนหมู่มากได้ง่ายขึ้น บทบาทของมีมจึงขยายไกลไปจากเรื่องตลก ไปสู่การเป็นเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมือง ไปจนถึงใช้เป็นเครื่องมือผลิตซ้ำและเผยแพร่ความคิดทางการเมืองที่ต้องการให้เป็นค่านิยมหลักของสังคม ซึ่งจะส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือก (หรือไม่เลือก) ในลำดับถัดไป
พลังอำนาจทางการสื่อสารของมีมดังที่กล่าวข้างต้น จึงเป็นความท้าทายของนักการเมืองว่าจะจัดการกับมีมเช่นใด มีมที่ทรงพลังมักจะเป็นมีมแบบ bottom-up ที่ชาวเน็ตสร้างขึ้นมาและช่วยกันส่งต่อจนมันเติบโตเองตามธรรมชาติ (ส่วนมีมแบบ top-down ที่จงใจสร้างให้เป็น viral มักจะออกมาประหลาดและประดักประเดิด) โดยมากจุดเริ่มต้นของมีมทางการเมืองมักเริ่มต้นจากการที่ชาวเน็ตหยิบเอานักการเมืองมาล้อเลียน ซึ่งแน่นอนว่าการล้อเลียนก็จะเกี่ยวพันกับเรื่องแง่ลบอย่าง “ความตลก” “ปมด้อย” “จุดอ่อน” “การดูเบา” ฯลฯ ของนักการเมืองคนนั้น ดังนั้น การปล่อยให้มีมเติบโตไปตามธรรมชาติ ก็มีความเสี่ยงที่เรื่องแง่ลบเหล่านั้นจะถูกล้อเลียนเลยเถิดจนเถลไถลใหญ่โตไปเรื่อย และกลายเป็นปมด้อยติดตัวนักการเมืองคนนั้น ซึ่งไม่เป็นผลดีในแง่ของภาพลักษณ์
นักการเมือง (หรือคนดังในวงการอื่น ๆ) ที่เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและจิตวิทยาคนหมู่มาก จึงมักจะเร่งเข้าไปมีส่วนร่วมกับมีมที่เกี่ยวข้องกับตนเอง (ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “เล่นด้วย”) เพื่อช่วงชิงเอาอำนาจในการกำหนดความหมายของมีมนั้นให้เป็นไปในทิศทางที่ตนเองต้องการ คือการเป็นมีมที่ส่งข้อความและภาพลักษณ์แง่บวกของตนเอง ส่วนนักการเมืองที่ด้อยในเรื่องนี้ ก็จะเป็นเดือดเป็นแค้นที่โดนล้อ ออกมาตอบโต้ ไปจนถึงไล่ฟ้อง กลายเป็นภาพลักษณ์เชิงลบเกี่ยวกับการเข้าไม่ถึง จับต้องไม่ได้ สวนทางกับนักการเมืองประเภทแรกที่ได้ภาพลักษณ์ของการเป็นคนธรรมดาเข้าถึงได้
——————————————————–