การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังคงเกิดขึ้นทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง โดยสายพันธุ์ที่ทั่วโลกเผชิญกับการระบาดอย่างหนักช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ที่ผ่านมาคือ Delta แต่สถานการณ์ก็ดูเหมือนกับว่าจะดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ปลายปี โดยหลายประเทศเริ่มผ่อนปรนมาตรการเข้าประเทศและการเดินทาง อีกทั้งหลายประเทศ เช่น ประเทศเพื่อนบ้านของไทยเรา ได้แก่ มาเลเซีย ก็วางแผนจะเปิดพรมแดนในช่วงต้นปี 2565 นอกจากนี้ สถาบันทางเศรษฐกิจต่างๆ ในระดับโลก ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น Moody’s Investors Service และ Goldman Sachs สถาบันการเงินระดับโลกของสหรัฐฯ ออกมาคาดการณ์ช่วง ตุลาคม-พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจโลกปี 2565 น่าจะเริ่มดีขึ้นได้ หลังภาวะติดขัดด้านอุปทานและเงินเฟ้อน่าจะคลี่คลาย เพราะทั่วโลกกลับมาผลิตสินค้าได้ทันกับความต้องการ และจะเข้าสู่ระดับมีเสถียรภาพได้ในปี 2566
แต่แล้ว ทั่วโลกก็คุ้นชินกับชื่อไวรัส COVID-19 ตัวใหม่ “Omicron” กันอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ช่วง 25 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในแอฟริกา และองค์การอนามัยโลก (World Health Organisation-WHO) ประกาศเมื่อ 26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ให้เป็นสายพันธุ์น่ากังวล (variant of concern-voc) หลายประเทศทั่วโลกจึงประกาศห้ามการเดินทางเข้าประเทศ จากที่เตรียมแผนจะเปิดประเทศในต้นปี 2565 หลังพบการแพร่ระบาดของ Omicron แล้วในหลายประเทศทั้งในแอฟริกา ยุโรป รวมถึง เอเชีย ก็คือฮ่องกง ทำให้เกิดความวิตกกังวลทั่วโลก โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2564 ปรับลงค่อนข้างมาก โดย ในยุโรปปรับลงร้อยละ 3-4 สหรัฐฯ ปรับลงร้อยละ 2.5 และเอเชียปรับลงร้อยละ 1 สำหรับไทย ปรับลดลง 38 จุด โดยดัชนีหลักทรัพย์ที่ปรับลดลง ส่วนใหญ่ล้วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มธุรกิจการเปิดประเทศ
ไม่เพียงเท่านั้น ความวิตกว่า สายพันธุ์ Omicron อาจทำให้ความต้องการน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง ยังส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลงค่อนข้างมาก เหลือบาร์เรลละ 70-74 ดอลลาร์สหรัฐ จาก 80 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2564 หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเริ่มส่งสัญญาณปรับตัวลงตั้งแต่สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร อินเดีย จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ประกาศเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2564 จะปล่อยน้ำมันดิบในคลังสำรอง ทางยุทธศาสตร์ เพื่อตอบโต้องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (Organization of Petroleum Exporting Countries-OPEC) และกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่ม OPEC (Non-OPEC) รวม 23 ประเทศ หรือ OPEC+ ที่ไม่เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบออกสู่ตลาดโลกตามการเรียกร้องของทั้ง 6 ประเทศ เพื่อแก้ไขราคาน้ำมันแพง
นอกจากนี้ ข่าวการแพร่ระบาดของ สายพันธุ์ Omicron ยังทำให้การประชุมระหว่างประเทศที่สำคัญต้องเลื่อนการประชุมออกไป เช่น กลุ่ม OPEC+ เลื่อนประชุมเพื่อทบทวนโควตาผลิตน้ำมันออกสู่ตลาดโลก ที่เวียนนา ออสเตรีย จาก 29 พฤศจิกายน เป็น 1 ธันวาคม 2564 โดยต้องการรอความชัดเจนจาก WHO เพื่อนำไปประเมินความต้องการใช้น้ำมันดิบในตลาดโลก เช่นเดียวกับประเทศที่จะปล่อยน้ำมันดิบในคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ข้างต้น ที่อาจทบทวนปริมาณน้ำมันดิบที่จะปล่อยออกสู่ตลาดโลก เพื่อให้เกิดสมดุลในตลาดพลังงานโลก นอกจากนี้ องค์การการค้าโลก (World Trade Organisation-WTO) ยังเลื่อนการประชุมระดับรัฐมนตรีของสมาชิกทั้ง 164 ประเทศ ที่จะจัดขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ในห้วง 30 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2564 ที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ อย่างไม่มีกำหนด
ความกังวลและความผันผวนของตลาดทุนและตลาดพลังงานโลกอาจลดลงได้ใน ธันวาคม 64 เนื่องจากทั่วโลกกำลังรวบรวมข้อมูล และน่าจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับระดับความรุนแรง และประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันสายพันธุ์ดังกล่าวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากผลการศึกษาพบชัดเจนว่า สายพันธุ์ Omicron ดื้อวัคซีนในระดับสูง มีอัตราการแพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็วสูง อีกทั้งรัฐบาลทั่วโลกไม่สามารถควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมือนกับการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตานั้น อาจทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจ การเงิน และตลาดพลังงานโลก ได้รับผลกระทบมากขึ้น และมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งก็จะกระทบต่อการส่งออกของไทยที่รัฐบาลกำลังผลักดันให้เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก ในช่วงที่การใช้จ่ายในประเทศและการท่องเที่ยวยังคงชะลอตัว นอกจากนี้ หากเกิดการระบาดของสายพันธุ์ดังกล่าวในไทย รวมถึงเกิดการระบาดระลอกใหม่ ที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อที่มีชื่อแปลกๆ เพิ่มเติมอีกในอนาคต ซึ่งมีโอกาสสูงมาก การรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าทางเศรษฐกิจ เพื่อประคองความเป็นอยู่ของประชาชนจะมีความสำคัญเป็นอันดับแรก แต่ภาครัฐจะต้องไม่ละจุดโฟกัสไปจากการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในระยะยาวให้มีความต่อเนื่อง และเท่าทันกับสถานการณ์โลก ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน
————————–