ในปี 2560 นั้นสหรัฐอเมริกาโดยวุฒิสภาได้มีการผ่านรัฐบัญญัติเกี่ยวกับการคว่ำบาตรประเทศซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐอเมริกา (Countering America’s Adversaries Through Sanctions Act: CAATSA) โดยประเทศที่อยู่ในข่ายของกฎหมายฉบับนี้ประกอบด้วย อิหร่าน เกาหลีเหนือ และรัสเซีย
ในกรณีของรัสเซียนั้นนอกจากกฎหมายฉบับนี้แล้ววุฒิสภาของสหรัฐอเมริกายังมีการออกรัฐบัญญัติว่าด้วยการต่อต้านอิทธิพลของรัสเซียในยุโรปและยูเรเซีย (Countering Russian Influence in Europe and Eurasia Act) เพื่อตอบโต้การกระทำของรัสเซียในยูเครน ซีเรีย ตลอดจนการที่รัสเซียมีบทบาทในการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาปี 2559 ด้วย
กฎหมายทั้งสองฉบับนี้ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาพยายามคว่ำบาตรรัสเซีย ตลอดจนบีบบังคับให้ประเทศพันธมิตรของตนเลิกติดต่อกับรัสเซีย เพื่อกดดันให้รัสเซียหันหน้าเข้าสู่ลู่ทางที่ควรจะเป็นมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่ากฎหมายเหล่านี้นำมาซึ่งข้อถกเถียงมากมายในหมู่ประชาคมระหว่างประเทศที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งสหรัฐอเมริกา และรัสเซีย
และหนึ่งในประเทศเหล่านั้นก็คืออินเดีย อินเดียถือเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์กับรัสเซียมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต ทั้งสองประเทศมีสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันมาโดยตลอด ในขณะที่สหรัฐอเมริกาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น และสหรัฐอเมริกาเองก็มีความพยายามผลักดันให้อินเดียเล่นบทบาทในภูมิภาคมากขึ้นผ่านกรอบความร่วมมือต่าง ๆ
กฎหมายทั้งสองฉบับจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่ออินเดียในการตัดสินใจทางด้านนโยบายการต่างประเทศ ซึ่งน่าสนใจว่าอินเดียเลือกที่จะเดินหน้าสานสัมพันธ์กับรัสเซียต่อไป ซึ่งรวมถึงในกรณีของอิหร่านด้วย (อิหร่านถือเป็นแหล่งนำเข้าน้ำมันที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของอินเดีย) เพราะสุดท้ายแล้วผลประโยชน์แห่งชาติย่อมมาก่อน
ในเดือนตุลาคม ปี 2561 อินเดียตัดสินใจทำข้อตกลงทางการทหารมูลค่ามากถึง 5.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสั่งซื้อระบบปฏิบัติการต่อสู้อากาศยาน S-400s จากรัสเซีย แม้ว่าก่อนการบรรลุข้อตกลงดังกล่าวสหรัฐอเมริกาจะออกมาขู่ว่าอินเดียอาจต้องเผชิญกับการคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกาหากตัดสินใจทำข้อตกลงสั่งซื้ออาวุธดังกล่าว
โดยก่อนหน้านี้สหรัฐอเมริกาได้มีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและยกเลิกสัญญาซื้อขายเครื่องบินรุ่น F-35 ให้กับตุรกีซึ่งได้มีการสั่งซื้อระบบปฏิบัติการต่อสู้อากาศยานดังกล่าวจากรัสเซียเช่นกัน
โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ทางการอินเดียได้ออกมาเปิดเผยว่าระบบปฏิบัติการดังกล่าวซึ่งได้สั่งซื้อไปก่อนหน้านี้นั้น จะมีการส่งมอบจำนวนหนึ่งชุดภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะในเดือนธันวาคมนี้อินเดียและรัสเซียได้มีการจัดประชุมผู้นำระดับสูงระหว่างกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดีย จะพบกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย
และที่สำคัญไปกว่านั้นคือในเดือนเดียวกันนี้เองอินเดียจะมีการประชุม 2+2 กับสหรัฐอเมริกาด้วย ซึ่งมีการคาดกันว่าประเด็นเรื่อง S-400s จะกลายเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการหารือในครั้งนี้ โดยเฉพาะท่าทีของสหรัฐอเมริกาต่ออินเดีย ซึ่งก่อนหน้านี้มีการขู่จะคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอินเดียมาโดยตลอด
แน่นอนว่าอินเดียค่อนข้างกังวลต่อท่าทีของสหรัฐอเมริกา เพราะหากถูกคว่ำบาตรจริงเศรษฐกิจของอินเดียจะได้รับผลกระทบอย่างมาก แต่นั่นไม่อาจละเลยได้ว่าอินเดียยังคงต้องการมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซียต่อไปในสภาพที่การเมืองระหว่างประเทศปั่นป่วนเช่นนี้
ที่สำคัญไปกว่านั้นเป็นที่ยอมรับกันว่า S-400s ถือเป็นระบบปฏิบัติการต่อสู้อากาศยานที่ล้ำสมัยที่สุดชิ้นหนึ่งของโลกในตอนนี้ ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านที่มีปัญหากับอินเดียอย่างจีนมีระบบปฏิบัติการนี้เป็นที่เรียบร้อย และจำนวนหนึ่งถูกติดตั้งตามแนวพรมแดนกับอินเดีย
ยิ่งไปกว่านั้นหลายปีมานี้อินเดียเผชิญความท้าทายอย่างมากจากการโจมตีของขีปนาวุธจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งระบบปฏิบัติการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยให้อินเดียมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น
ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้อินเดียตัดสินใจเดินหน้าซื้อระบบปฏิบัติการดังกล่าว เพราะสุดท้ายแล้วอินเดียยังมองว่าสามารถหาทางเจรจากับสหรัฐอเมริกาได้ เพราะสุดท้ายการคว่ำบาตรอินเดียก็เหมือนผลักให้อินเดียเข้าใกล้ชิดกับรัสเซียมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสหรัฐอเมริกามากกว่านั่นเอง
.
ผู้เขียน
ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
กำลังศึกษาปริญญาเอกที่คณะการจัดการ และทำงานเป็นนักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแถบและเส้นทาง มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน สนใจประเด็นการต่างประเทศ การเมือง และพลังงานในภูมิภาคเอเชียใต้และจีน