การประโคมข่าวภาพเปรียบเทียบความโกลาหล เมื่อ 17 สิงหาคม 2564 ที่สนามบินคาบูล กับภาพการอพยพที่ไซ่ง่อน เมื่อ 29 เมษายน 2518 บนยอดตึก Pittman Apartments บนถนน 22 ยาลอง (Gia Long) ซึ่งปัจจุบันคือถนน Ly Tu Trong มีจุดร่วมของภาพเป็นการถอนกำลังทางหทารของสหรัฐอเมริกาออกจากประเทศอื่น ที่ใช้เวลากว่า 20 ปีก่อนจะถอยออกสู่วงนอก ให้วงในหรือขั้วการเมืองของเจ้าถิ่นสู้กันเอง ดูมีความ Déjà Vu อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการแตกฉานซ่านเซ็นของฝ่ายที่สหรัฐอเมริกาเคยให้การสนับสนุน
แม้ทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นห่างกันถึง 46 ปี และปัจจัยแวดล้อมก็ต่างกันหลายประการ โดยเฉพาะภูมิศาสตร์ของการเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (Landlocked country) ของอัฟกานิสถานที่แตกต่างสิ้นเชิงกับการมีที่ตั้งติดทะเลของเวียดนาม อย่างไรก็ตาม แง่คิดและประเด็นคำถามทั้งด้านการสงครามตามแบบและสงครามจิตวิทยา เฉพาะอย่างยิ่งประเด็นฉุกคิดที่ผู้กำหนดนโยบายระหว่างประเทศพึงมีต่อกันก็ทำให้ต้องหยิบหนังสือเรื่อง “Twenty Years and Twenty Days” ขึ้นมาอ่านอีกครั้ง
ซึ่งฉบับภาษาไทยแปลโดย พงษ์ พินิจ (นามปากกาของนายพินิจ พงษ์สวัสดิ์) โดยมีชื่อหนังสือว่า “สิ้นชาติ” เนื้อหาหลักเกี่ยวกับสงครามในเวียดนาม ระหว่างปี ค.ศ. 1954-1975 จากมุมของผู้เขียนโดย NGUYEN CAO KY หรือเหงียน เกา กี อดีตนายกรัฐมนตรีเวียดนามใต้ ตีพิมพ์ฉบับแปลไทยครั้งแรกสิงหาคม พ.ศ.2520 หรือ ค.ศ.1977 ความยาว 489 หน้า หนังสือขนาด 11x18x2.3 เซ็นติเมตร สามารถหายืมอ่านได้จากห้องสมุดในไทยหลายแห่ง ทั้งต้นฉบับภาษาอังกฤษและฉบับแปลภาษาไทย หรือจะหาซื้อหนังสือมือสองมาอ่านก็ยังพอหาได้ ขณะที่ต้นฉบับภาษาอังกฤษตีพิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2519 (ฉบับรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ Kindle ใช้ชื่อ “How We Lost the Vietnam War”)
การดำเนินเรื่องเริ่มจากเกริ่นความเจ็บปวดในการถูกปฏิเสธแม้แต่จะเป็นผู้แพ้ที่มีเกียรติในบทที่ 1 ตามด้วยการเล่าชีวิตการทำงานและประสบการณ์โดยตรงกว่า 20 ปี ของนายเหงียน เกา กี แห่งเวียดนามใต้ (แม้จะเกิดที่เวียดนามเหนือ) ผู้มีหลายบทบาทในชีวิต ทั้งผู้บังคับหมวดในป่าลุ่มแม่น้ำแดง นักบิน ผู้บัญชาการทหารอากาศ นายกรัฐมนตรี ผู้นำรัฐประหารและรองประธานาธิบดี จากภารกิจนำผู้ลี้ภัยกลุ่มสุดท้ายออกจากเวียดนามเหนือ สู่การเป็นผู้ลี้ภัยออกจากมาตุภูมิในฐานะประชาชน
หนังสือแบ่งเป็น 20 บท อัดแน่นด้วยอุดมการณ์รักชาติแบบชายชาติทหาร ผ่านการบรรยายอารมณ์ความรู้สึก ความคิดที่กีได้มีปฏิสัมพันธ์ด้วยกับหลากหลายบุคคลสำคัญ ในช่วงสงครามเย็นระหว่างค่ายเสรีที่นำโดยสหรัฐอเมริกา กับค่ายคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียตกับจีน บนพื้นที่ปะทะสมรภูมิเวียดนาม ทั้งทางกำลังทหาร อุดมการณ์ความเชื่อ เหลี่ยมการเมืองภายในเวียดนามและการต่างประเทศ ช่วงสงครามเวียดนามหลังการเจรจาสันติภาพเจนีวา 2497 (ห้วงเวลาคาบเกี่ยวกับสงครามอินโดจีนที่เดียนเบียนฟู) ซึ่งแบ่งแยกเวียดนามเหนือใต้ออกจากกันอย่างเป็นทางการ ด้วยเส้นขนานที่ 17 ปัจจุบันอยู่ระหว่างจังหวัด Quảng Bình กับ Quảng Trị จากปากแม่น้ำ Ben Hai จรดถึงชายแดนเวียดนาม-ลาว ใกล้แม่น้ำ Banghiang แขวงสะหวันนะเขต
สำหรับจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือการอธิบายแง่คิดของกีที่มีต่อสหรัฐอเมริการวมถึงวิธีต่อรองของกี ทั้งด้านการเมือง การทูต และการข่าวกรอง หรือแม้แต่กับนักประท้วงและสื่อมวลชนของสหรัฐอเมริกา ซึ่งบทที่ 10 “ความช่วยเหลือสารพัดพันธนาการ” อธิบายได้ชัดทีเดียว อีกทั้ง กีได้วิจารณ์หลายบุคคลและหลายนโยบายทั้งของเวียดนามใต้และสหรัฐอเมริกา โดยมีการยกขึ้นเปรียบเทียบบทบาทของสหภาพโซเวียตและจีน ที่ปฏิบัติต่อเวียดนามเหนือ ว่าดีกว่าสหรัฐอเมริกาที่ปฏิบัติต่อเวียดนามใต้อย่างไร (ซึ่งน่าสนใจว่าแล้วความคิดเห็นของสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ไทยเอง ในเรื่องเดียวกันนั้น คิดเห็นอย่างไร และส่งผลอย่างไรต่อการดำเนินนโยบายการต่างประเทศในเวลาต่อมา เช่น การพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง)
นอกจากนี้ ยังมีการแทรกเกร็ดเล็กน้อย ที่น่าขบคิดต่อบริบทในไทย เช่น การใช้คำว่า “บิ๊ก” กับนายทหารระดับสูง การสร้างความเข้มแข็งให้กรมตำรวจเพื่อปราบคอมมิวนิสต์ แง่คิดในการปฏิวัติและรัฐประหารด้วยเหตุผลความมั่นคงซึ่งได้อธิบายไว้กว้าง ๆ ในบทที่ 5 “ปีเดียวปฏิวัติ 7 ครั้ง” หรือแม้แต่เกร็ดเล็กน้อยของบุคคลต่าง ๆ อาทิ ดร.เฮนรี่ คิสซินเจอร์ (ซึ่งน่าจะเป็นคนเดียวในหนังสือเล่มนี้ที่ยังมีชีวิตอยู่) พระติ๊ค ตรี กวาง ผู้นำชาวพุทธ อธิบดีตำรวจ เหงียน ง็อค โลน (ซึ่งหลายคนรู้จักเขาผ่านภาพถ่ายมากกว่าชื่อของเขา)
หนังสือเล่มนี้เหมาะกับผู้สนใจทั้งด้านประวัติศาสตร์ การเมือง การทูต ความมั่นคง โดยเฉพาะบทบาทของกองทัพอากาศและผู้กำหนดนโยบาย ตลอดจนผู้ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาชาติ สร้างชาติ ความรัก/ชังชาติ และการสิ้นชาติ หรือแม้แต่ว่าด้วยความแตกแยกในชาติ โดยมีข้อสังเกตว่าเนื้อหามีเส้นบาง ๆ ระหว่างการอธิบายข้อเท็จจริงจากทางฝ่ายเวียดนามใต้ กับการแก้ต่างและระบายความในใจของกีผ่านการเขียนหนังสือ และการกระทำหลายอย่างของกีที่แทรกอยู่ในแต่ละบท เมื่อนำบทที่ 9 “โกง กิน และสินบน มหาเศรษฐี พี.เอ็กซ์.” มาเทียบปะทะกับแนวคิดยุคปัจจุบันเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและการคอร์รัปชัน ก็อาจสร้างความสับสนหรือรู้สึกย้อนแย้งให้ผู้อ่าน
อย่างไรก็ดี แม้ความรู้สึกของกีที่สุดจะทนบนเรือบลู ริดจ์ ซึ่งพรั่งพรูออกมาในบทที่ 20 การเขียนตลอดทั้งเล่มของกีก็ไม่มีสักคำเลยที่กีจะเรียกฝ่ายเวียดนามเหนือว่าชังชาติหรือกล่าวหาว่าเกลียดมาตุภูมิแห่งเดียวกันกับเขา เพียงแต่มองว่าเขาคือผู้รักชาติที่แท้จริงยิ่งกว่า มองความเป็นไปของการแตกแยกนี้ว่า “ชาติหนึ่งคือชาติแห่งอดีต อีกชาติหนึ่งคือชาติแห่งอนาคตและต่างคนต่างก็พยายามจะก้าวเดินให้พร้อมกันให้ได้” และมองว่าอิสรภาพของลุงโฮเป็นอิสรภาพที่ผิดทาง แต่ท้ายที่สุดกีก็ยอมรับว่า “ผมพลาดยิ่งกว่าโฮจิมินห์เสียอีก”
ประเด็นต่าง ๆ ที่จะได้รับจากหนังสือเล่มนี้ค่อนข้างหลากหลายแง่มุม ทั้งการเมืองภายในเวียดนามที่มีความซับซ้อนอยู่ไม่น้อย โดยไม่ได้มีแค่เหนือหรือใต้ และไม่ได้มีแค่สหรัฐอเมริกากับคอมมิวนิสต์ แต่ได้กล่าวถึงความร้าวลึกและความอดกลั้นของเวียดนามที่มีต่อความสัมพันธ์สหรัฐอเมริกากับฝรั่งเศส ซึ่งกัดกร่อนความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับเวียดนามใต้อยู่ลึก ๆ ตลอด 20 ปี ซึ่งทำให้น่าติดตามบทบาทของนาย Daniel Joseph Kritenbrink ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ฝ่ายกิจการเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเคยสร้างปรากฏการณ์ทำสิ่งที่พบเห็นได้ยากในการต่างประเทศ ด้วยการลุกขึ้นมาร้องเพลงพร้อมถ่ายทำมิวสิควิดีโอเพลง Boy from Hanoi ft.Tet ขณะดำรงอดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำกรุงฮานอย
โดยตลอด 2 เดือนที่ผ่านมานาย Kritenbrink ภายหลังรับตำแหน่งใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมได้เลือกเยือน 2 ประเทศแรกในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เมื่อ 7-12 พฤศจิกายน 2564 และเลือกเยือน 4 ประเทศแรกของสมาชิกอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ระหว่าง 27 พฤศจิกายนถึง 4 ธันวาคม 2564 โดยสำนักข่าว Reuters รายงานเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2564 ว่า นาย Kritenbrink มีเป้าหมายเพื่อย้ำความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในภูมิภาค ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเดินสายเยือนทุกประเทศสมาชิกอาเซียน ภายในมกราคม 2565 ยกเว้นกัมพูชาเพราะใกล้ชิดกับจีน แม้กัมพูชาจะเป็นประธานอาเซียนปี 2565 ก็ตาม (แต่ทำเนียบขาวก็ส่งคนอื่นเยือนแทน)
และสำนักข่าว Reuters เจ้าเดิม ก็ได้ติดตามรายงานทัวร์ครั้งนี้ ประหนึ่งเป็นสมาชิกร่วมคณะเดินทาง โดยเมื่อ 3 ธันวาคม 2564 ระหว่างเยือนไทยนั้น Reuters ก็ได้ช่วยรายงานย้ำวรรคทองสองประโยคในบทสัมภาษณ์ของนาย Kritenbrink ว่า Washington was not asking its allies to choose between it and China, promoting instead a shared vision of a rules-based order large countries don’t bully the weak.”
เรามารอติดตามต่อว่าความ Fit to fly ของ Man from Nebraska Potomac จะสามารถทำให้เวียดนามเชื่อใจสหรัฐอเมริกาได้ขนาดไหนในการร่วมกันต่อต้านจีนซึ่งเป็นคู่อริร่วมของทั้งสหรัฐอเมริกาและเวียดนาม อีกทั้งในทัศนะของชาวเวียดนามเพลง Boy from Hanoi ft.Tet จะลบภาพจำละครเพลง Miss Saigon ของ Claude-Michel Schönberg ได้ขนาดไหน ยิ่งภาพเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2564 ที่ประธานาธิบดีรัสเซียจับมือกลมเกลียวกับประธานาธิบดีเวียดนามที่มอสโก ก็น่าจับตามมองอีกว่ามอสโกจะแสดงบทบาทอย่างไรต่อไป และวอชิงตัน ดี.ซี.ที่มุ่งสนใจแต่ปักกิ่ง จะมองมอสโกเป็นคู่แข่งหน้าเดิมในสมรภูมิเก่าหรือไม่ แต่สิ่งที่น่าคิดที่สุดสำหรับผู้อ่านบทความนี้คืออีก 20 ปีข้างหน้านักยุทธศาสตร์ที่สนใจเกี่ยวกับเลข 20 จะมีภาพในใจอะไรเกี่ยวกับสหรัฐอเมริกาหวนกลับคืนมาอีกหรือไม่
ปล.หนังสือที่ควรอ่านต่อกันกับ “สิ้นชาติ” คือหนังสือชุดคู่ขนานชื่อ “แผนชิงชาติ” แปลจากฉบับภาษาอังกฤษ “Our Great Spring Victory” ตีพิมพ์ครั้งแรกมกราคม 2520 โดยต้นฉบับภาษาเวียดนาม “Dai Thang mva xuan” ซึ่งเขียนผ่านมุมมองจากฝ่ายเวียดนามเหนือ โดยมีพงษ์ พินิจ ผู้แปลเป็นภาษาไทยคนเดียวกันนี้ เลือกแปลให้เป็นเรื่องราวชุดเหตุการณ์เบื้องหลังสงครามเวียดนาม ตีพิมพ์ฉบับแรก “แผนชิงชาติ” ห่างจาก “สิ้นชาติ” ประมาณ 19 เดือน เพื่อทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงเหตุการณ์ช่วงเดียวกันนั้นได้มากกว่าหนึ่งมุม แต่สำหรับเล่มที่ 3 ซึ่งมีการเกริ่นว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวพันไทยโดยเฉพาะนั้น ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเป็นงานแปลหรืองานเขียนใดของพงษ์ พินิจ
———————————-