สภาวะที่เรียกว่าความมั่นคงคือการปลอดภัยจากภัยคุกคาม คำถามสำคัญที่ตามมาคือ ภารกิจของหน่วยงานความมั่นคงจะต้องปกป้อง “สิ่งใด” จากภัยคุกคาม การจะตอบคำถามดังกล่าวจะต้องพิจารณาย้อนกลับไปถึงกระบวนการทีเป็นองค์ประกอบในการสร้างความมั่นคง ซึ่งจะพบว่ามีปัจจัยสำคัญ 2 ประการที่ก่อร่างสร้างเป็นความมั่นคง คืออัตลักษณ์ร่วม และค่านิยมที่พึงประสงค์ ซึ่งจะเป็นคำตอบของคำถามเกี่ยวกับภารกิจของหน่วยงานความมั่นคงดังกล่าวข้างต้น
การก่อกำเนิดขึ้นของชุมชนมนุษย์ จำเป็นต้องมีสิ่งที่เรียกว่าอัตลักษณ์ร่วม (common identity) เพื่อสร้างสำนึกของความเป็นพวกเดียวกัน สาเหตุที่เงื่อนไขดังกล่าวมีความสำคัญก็เพราะในสภาพธรรมชาติแล้วมนุษย์หวงแหนเสรีภาพและอัตลักษณ์ส่วนตัว จึงจำเป็นต้องมีสิ่งจูงใจเพื่อให้ยินยอมสูญเสียสิ่งที่หวงแหนและยอมอยู่ใต้กฎเกณฑ์ร่วมกันของชุมชน ซึ่งแรงจูงใจพื้นฐานก็มักจะเป็นไปเพื่อรักษาตัวให้ปลอดภัยจากภัยคุกคาม ดังนั้น “อัตลักษณ์ร่วม” จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ชุมชนต้องสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นตัวกำหนดว่าใครบ้างคือ “พวกเดียวกัน” และใครบ้างที่ “ไม่ใช่พวกเรา” ซึ่งมีศักยภาพในการเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัย จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า อัตลักษณ์ร่วมเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทั้งภัยคุกคามและผลประโยชน์ร่วมกัน (รัฐซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่เรียกสิ่งเหล่านั้นว่า อัตลักษณ์แห่งชาติ ศัตรูของชาติ และผลประโยชน์แห่งชาติ)
อัตลักษณ์คือสิ่งที่สัมผัสได้ง่ายด้วยประสาทสัมผัส ขณะที่ค่านิยมที่พึงประสงค์ (core value) ที่เป็นปัจจัยอีกประการของความมั่นคงมีลักษณะเป็นนามธรรมและสัมผัสได้ยากกว่า ค่านิยมคือความคิดความเชื่อที่เป็นบรรทัดฐานในการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ การจะอยู่ร่วมกันในชุมชนได้โดยปราศจากความขัดแย้ง จึงต้องมีการกำหนดค่านิยมที่พึงประสงค์ร่วมกัน สิ่งที่ตามมาก็คือค่านิยมที่พึงประสงค์ดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่คนในชุมชนคาดหวังร่วมกันว่าทุกคนจะต้องยึดมั่นและปฏิบัติตาม รวมทั้งจะต้องร่วมกันปกป้องไว้ไม่ให้ถูกทำลายลงจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกสังคม เนื่องจากหากชุมชนเข้าสู่สภาวะปราศจากค่านิยมร่วมกัน จะนำไปสู่ความวุ่นวายจากการที่ไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าคนในชุมชนจะมีพฤติกรรมเช่นใด
ก่อนการถือกำเนิดของอินเทอร์เน็ต ในยุคสมัยที่ชุมชนหรือสังคมสามารถจับต้องได้ในเชิงกายภาพ และระยะทางยังเป็นข้อจำกัดในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ อำนาจในการกำหนดอัตลักษณ์และค่านิยมร่วมกันถูกผูกขาดอยู่กับบุคคลไม่กี่กลุ่ม ได้แก่ 1) ผู้ถืออำนาจปกครอง ที่ทำหน้าที่กำหนดอัตลักษณ์และค่านิยมร่วม และ 2) สื่อมวลชน ที่ทำหน้าที่ผลิตซ้ำและเผยแพร่อัตลักษณ์และค่านิยมเหล่านั้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้บรรดาสมาชิกในสังคมคล้อยตาม จดจำ และส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น จนกระทั่งคิดว่าเป็นความจริงแท้ที่ดำรงอยู่ตามธรรมชาติโดยไม่คิดโต้แย้ง
อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตบั่นทอนกระบวนการข้างต้นอย่างมาก เป้าหมายสำคัญของการสื่อสาร คือการส่งต่อข้อมูลจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่มีจุดเด่นด้านความเร็ว และไม่ถูกจำกัดด้วยระยะทาง จึงมีประสิทธิภาพมากกว่าและเอาชนะสื่อสารมวลชนแบบดั้งเดิมได้อย่างสิ้นเชิง ขณะเดียวกัน คุณสมบัติของอินเทอร์เน็ตที่ทุกคนสามารถเป็นผู้ผลิตเนื้อหาได้โดยไม่ต้องลงทุนมากมาย ก็ทลายข้อจำกัดด้านต้นทุนในการผลิตสื่อ ทำให้บทบาทของสื่อที่เคยผูกขาดด้วยสื่อมืออาชีพ เปลี่ยนมือมาอยู่กับใครก็ได้ที่มีอินเทอร์เน็ตอยู่ในมือ
อำนาจในการผลิตซ้ำและเผยแพร่อัตลักษณ์และค่านิยมยังอยู่ในมือสื่อ แต่บทบาทการเป็นสื่อกระจายออกไปกว้างขวางไปอยู่กับมวลชนจำนวนมหาศาล ไม่ได้ผูกขาดที่สื่อมวลชนแบบดั้งเดิมที่มีอยู่น้อยราย ผู้ถืออำนาจปกครอง (หรือรัฐ) จึงต้องลำบากมากขึ้นในการใช้สื่อเป็นเครื่องมือประกอบสร้างอัตลักษณ์และค่านิยมร่วม ถึงแม้ว่ารัฐจะยังมีสื่อในมือเช่นกัน แต่ความสามารถในการใช้สื่อของรัฐไม่อาจสู้ได้กับภาคส่วนอื่นในสังคม ทั้งในแง่ปริมาณ (จำนวนประชาชนมีมากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐ) และคุณภาพ (โลกยุคทุนนิยมฝึกปรือให้ภาคเอกชนชำนาญในการใช้สื่อที่เป็นเครื่องมือสำคัญของระบบตลาด) จึงนำไปสู่สภาวะที่รัฐไม่ได้มีอำนาจผูกขาดการกำหนดอัตลักษณ์และค่านิยมที่พึงประสงค์อีกต่อไป
อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ที่ลดต้นทุนของการรวมกลุ่ม มนุษย์จากทั่วประเทศหรือทั่วโลก ทำให้สามารถสื่อสาร แบ่งปันเนื้อหา และค้นหาบุคคลที่มีจุดสนใจร่วมกันได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านระยะทาง การรวมกลุ่มเป็นสังคมในโลกดิจิทัลจึงทำได้ง่ายกว่าการรวมกลุ่มแบบดั้งเดิมในโลกเชิงกายภาพที่มีต้นทุนสูง อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่สร้างอัตลักษณ์และค่านิยมร่วมกันได้ง่ายและเร็ว เนื่องจากคุณสมบัติในการเริ่มต้นทำความรู้จักกันคือการเลือกสรรผู้มีความสนใจร่วมกันเป็นพื้นฐาน ต่างจากกลุ่มทางกายภาพที่มักมีปัจจัยอื่นเป็นตัวกำหนดโดยไม่สามารถเลือกได้ เช่น ความสัมพันธ์ทางสายเลือด สถานที่เกิด ฯลฯ
อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ทำให้การรวมกลุ่มเป็นไปได้ง่ายขึ้น และยุติการผูกขาดอำนาจในการกำหนดอัตลักษณ์และค่านิยมร่วมของสังคม จึงเป็นไปได้ยากแล้วที่สังคมจะมีอัตลักษณ์และค่านิยมหลักที่สอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งสังคม ดังที่เคยเป็นเช่นในอดีตตอนที่รัฐยังผูกขาดอำนาจดังกล่าว นอกจากนี้ ลักษณะของสื่อสังคมออนไลน์ที่มีคุณสมบัติของการกระจายอำนาจเป็นจุดเด่น ยังทำให้ไม่มีกลุ่มหรือบุคคลใดสามารถสถาปนาตัวเป็นผู้ผูกขาดอำนาจแต่เพียงผู้เดียวแทนที่รัฐได้เช่นกัน
สภาพดังกล่าวสามารถเรียกได้ว่าเป็น “สังคมชนเผ่าในโลกดิจิทัล” กล่าวคือ มนุษย์มีอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางที่ทำให้ได้พบเจอบุคคลที่มีความสนใจเดียวกัน และใช้ช่องทางนั้นสื่อสารกัน แบ่งปันข่าวสาร และทำกิจกรรมร่วมกัน ก่อเกิดเป็นกลุ่มขนาดเล็กที่หลากหลาย และไม่มีผู้ใดเป็นคนชายขอบ ไม่มีอัตลักษณ์หรือค่านิยมใดที่ถูกเบียดหายจนไม่มีที่ยืนในสังคม เนื่องจากอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์เปิดพื้นที่ให้ทุกคนสามารถเสาะหาผู้มีความสนใจร่วมกันได้เสมอ จึงมีการรวมกลุ่มที่ครอบคลุมทุกอัตลักษณ์และค่านิยมที่เป็นไปได้ในโลกใบนี้ เช่น กลุ่มคนขับแกร็บฟู้ด กลุ่มคนชอบดูเมฆ กลุ่มเฟมินิสต์ กลุ่ม LGBT กลุ่มอนาธิปไตย กลุ่มปกป้องศาสนา กลุ่มชาตินิยม กลุ่มนิยมการข่มขืน กลุ่มนิยมการก่อการร้าย ฯลฯ
นอกจากนั้น การรวมกลุ่มในโลกดิจิทัลมักมีพื้นฐานจากความสนใจร่วมกัน ทำให้ปิดกั้นโอกาสที่จะได้รับสื่อหรือสนทนากับบุคคลที่มีความเห็นหรือค่านิยมแบบอื่น แต่ถูกหล่อหลอมกล่อมเกลาตลอดเวลาด้วยค่านิยมเดียวกันของคนในกลุ่มเดียวกัน จึงมีแนวโน้มที่จะศรัทธาในค่านิยมของกลุ่มตนเองอย่างสุดโต่ง และต่อต้านค่านิยมของกลุ่มอื่นที่ไม่สอดคล้องกับตนอย่างสุดโต่งเช่นเดียวกัน สังคมขนาดเล็กจำนวนหลากหลายที่ไม่ไว้ใจกันเพราะขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในลักษณะดังกล่าว ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดเป็นความขัดแย้งรุนแรง ไปจนถึงการใช้ความรุนแรงต่อกัน ซึ่งเป็นสภาพเดียวกับสังคมชนเผ่าในยุคบรรพกาล
——————————————————————————-