ดร. Lee Chew Chiat จากบริษัทที่ปรึกษา Deloitte Southeast Asia เป็นนักวิชาการคนแรกที่นำเสนอในงาน Thailand Futurist Conference 2021 ซึ่งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จัดขึ้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2564 เพื่อเป็นเวทีสัมมนาวิชาการด้านอนาคตศึกษาครั้งแรกของประเทศไทย ดร. Lee Chew Chiat นำเสนอในหัวข้อ “Now is the time to leap into the future” หรือ “ถึงเวลาแล้วที่จะต้องก้าวกระโดดสู่อนาคต” ใจความสำคัญของการบรรยายคือการบอกว่ารัฐต้องยืดหยุ่นและนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มากขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19
ข้อสรุปดังกล่าวมีที่มาจากการที่บริษัท Deloitte ทำการสำรวจห้วงสิงหาคม-พฤศจิกายน 2563 พบว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (digital transformation) เป็นเรื่องสำคัญมากต่อการสร้างอนาคต โดยมีวิกฤตโรค COVID-19 เป็นตัวเร่ง สำหรับตัวอย่างสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เช่น การแพทย์ทางไกล (telehealth) การศึกษาทางไกล (online education) ขณะเดียวกัน วิกฤตโรค COVID-19 ก็ช่วยเปิดเผยจุดอ่อนขององค์กรต่าง ๆ ที่ยังไม่มีความพร้อมสำหรับการทำงานทางไกล เนื่องด้วยปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ระบบไอที และขั้นตอนการทำงาน
ดร. Lee Chew Chiat ให้ข้อเสนอแนะ 5 ข้อสำหรับภาครัฐ เพื่อก้าวกระโดดสู่อนาคต ดังนี้
1. เร่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Accelerated digital government) โรค COVID-19 ทำให้ “ดิจิทัล” เปลี่ยนสถานะจากสิ่งที่มีก็ดี ไม่มีก็ได้ กลายเป็นสิ่งที่ “จำเป็นต้องมี” รัฐบาลถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลโดยเร็ว ทั้งในมิติของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ต้องมีขนาดใหญ่รองรับการใช้งานระดับประเทศ การมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล และการสร้างความเชื่อมโยงกับประชาชน ซึ่งถ้าเอามาเทียบกับสถานการณ์ในประเทศไทย ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือการที่โรค COVID-19 ทำให้นโยบาย cashless society ของรัฐบาลประสบความสำเร็จได้ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ที่รัฐใช้เป็นช่องทางสำหรับดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
2. บริการภาครัฐแบบไร้รอยต่อ ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย (Seamless service delivery) บริการภาครัฐในยุคใหม่จะทำแบบเหมาเข่งไม่ได้แล้ว ภาพเดิม ๆ ที่ประชาชนทุกคนต้องได้รับบริการรูปแบบเดียวกันเหมือนกันไปหมดกลายเป็นเรื่องล้าสมัย ในยุคนี้รัฐต้องมีบริการหลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของประชาชน เนื่องจากเป็นไปไม่ได้เลยที่ประชาชนทุกคนจะมีความต้องการเหมือนกันไปหมด
3. ระบบของภาครัฐที่ฉลาด (Government as a cognitive system) ใช้ข้อมูลที่ทันสมัย และการมองอนาคต เป็นกลไกสนับสนุนการตัดสินนโยบาย โดยภาครัฐที่ดีที่สุด คือภาครัฐที่เรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา
4. ภาครัฐที่คล่องตัว (Agile government) ยืดหยุ่น มีความสามารถในการปรับตัว คล่องแคล่ว ว่องไว ทำงานโดยมีภารกิจเป็นจุดเน้นสำคัญ (mission-centric)
5. ภาครัฐที่ประชาชนศรัทธา (Sustaining public trust in government) เพราะการบริหารจัดการภาวะวิกฤต ไม่อาจประสบความสำเร็จได้เลยถ้าประชาชนไม่เชื่อถือศรัทธาภาครัฐ พูดง่าย ๆ คือถ้าประชาชนขาดศรัทธา มีนโยบายอะไรออกมาประชาชนก็ไม่เอาด้วย ไม่ให้ความร่วมมือทั้งนั้น ซึ่งเป็นปัญหามาก ๆ ต่อการบริหารวิกฤตเช่นโรค COVID-19 ภาครัฐจึงควรต้องมีกลไก สถาบัน หรือกระบวนการสร้างความศรัทธาต่อภาครัฐ
————————————————————-