หลังจากที่ประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน ของสหรัฐฯ ขึ้นเป็นประธานาธิบดี การประชุม G-7 ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐฯ แคนาดา อิตาลี เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร ก็มีเอกภาพมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากการสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับกรอบพหุภาคี ซึ่งต่างจากสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไม่ให้ความสำคัญและมีความเห็นไม่สอดคล้องกับสมาชิก G-7 อื่น ๆ เช่น ประเด็นภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2564 เป็นต้นมา กลุ่ม G-7 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ได้ผนึกกำลังในกรอบพหุภาคี เพื่อสกัดกั้นอิทธิพลจีน โดยอ้างบรรทัดฐานระหว่างประเทศต่าง ๆ รวมทั้งค่านิยมประชาธิปไตย และหลักสิทธิมนุษยชน ในการดำเนินการดังกล่าว
การประชุมสุดยอด G-7 ประจำปี 2564 ซึ่งมีสหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพ ได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อเดือยมิถุนายน 2564 และล่าสุดมีการจัดการประชุม G-7 ระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ลิเวอร์พูล สหราชอาณาจักร ระหว่าง 11-12 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นการผนึกกำลังกลุ่มประเทศเสรีประชาธิปไตย เพื่อลดทอนอิทธิพลจีนผ่านกรอบพหุภาคี โดยมุ่งโจมตีจีนในประเด็นสิทธิมนุษยชนในฮ่องกง เขตปกครองตนเองซินเจียง สถานการณ์ในช่องแคบไต้หวัน ทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้ และนโยบายเศรษฐกิจเชิงบีบบังคับของจีน ซึ่งทางการจีนเองก็ได้ออกมาตอบโต้ เมื่อ 13 ธันวาคม 2564 ว่า G-7 เป็นฝ่ายผูกขาดระเบียบระหว่างประเทศ และกล่าวหาจีนอย่างไม่รับผิดชอบ กับทั้งแทรกแซงกิจการภายในของจีน ซึ่งจีนยืนยันจะปกป้องผลประโยชน์และอธิปไตยเหนือน่านน้ำของตนเองในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก พร้อมกับตอบโต้ว่า G-7 เป็นฝ่ายใช้นโยบายทางเศรษฐกิจเชิงบีบบังคับต่อจีน บ่งชี้จากกรณีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อจีน การทำสงครามการค้า และนโยบายเข้มงวดต่อบริษัทของจีนที่ผ่านมา
แม้ที่ประชุมดังกล่าววิตกกับประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีน เฉพาะอย่างยิ่งต่อชาวมุสลิมในเขตปกครองตนเองซินเจียง และสมาชิก G-7 ได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา และสหราชอาณาจักร ใช้ข้ออ้างจากประเด็นข้างต้น คว่ำบาตรการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่จีน (4-20 กุมภาพันธ์ 2565) แต่ที่ประชุมครั้งนี้ “เสียงแตก” ในการคว่ำบาตรการแข่งขันกีฬาดังกล่าว โดยฝรั่งเศสและอิตาลี แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการคว่ำบาตรดังกล่าว ส่วนญี่ปุ่นและเยอรมนียังคงไม่มีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะคว่ำบาตรการแข่งชันกีฬาดังกล่าวหรือไม่ระหว่างห้วงการประชุม
สิ่งที่น่าสนใจในการประชุมครั้งนี้ คือ การที่ G-7 เชิญอาเซียนเข้าร่วมประชุมเป็นครั้งแรก และออกแถลงการณ์ร่วมระหว่าง G-7 กับอาเซียน แยกจากแถลงการณ์ร่วมปกติของ G-7 เกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ อาทิ ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ทะเลจีนใต้ เมียนมา โรฮีนจา ความเป็นแกนกลางของอาเซียน มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook for Indo-Pacific-AOIP) เงินทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนการเปิดกว้างด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งบ่งชี้ว่า อาเซียนจะเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญที่ G-7 จะดึงอาเซียนให้เข้ามาเป็นพันธมิตรเพื่อสกัดกั้นอิทธิพลจีนอย่างเข้มข้นมากขึ้น
ขณะเดียวกัน G-7 ยังใช้โอกาสนี้ ย้ำค่านิยมเสรีและประชาธิปไตย รวมทั้งสนับสนุนการประชุมสุดยอด เพื่อประชาธิปไตย (Summit for Democracy) ที่สหรัฐฯ ระหว่าง 9-10 ธันวาคม 2564 พร้อมระบุว่า ประเทศที่มีค่านิยมเสรีและประชาธิปไตยต้องเพิ่มการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ขณะเดียวกัน ก็สกัดกั้นความคลื่อนไหวของจีนด้วย เช่น ให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาที่ตกอยู่ภายใต้กับดักหนี้ของจีน และจะเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูงและยั่งยืน (เน้นสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน) ในประเทศรายได้ต่ำ-ปานกลาง ผ่านกรอบ Build Back Better World (3BW) (มีนัยแข่งขันกับโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน) ซึ่งที่ประชุมย้ำถึงความคืบหน้าของ 3BW แต่ยังไม่มีรายละเอียดที่เป็นรูปธรรมชัดเจน
การประชุมครั้งนี้บ่งชี้ว่า G-7 จะยกระดับการแข่งขันระหว่างยุทธศาสตร์ 3BW กับ BRI ของจีน และจะเพิ่มการสอดแทรกบรรทัดฐานและมาตรฐานระหว่างประเทศ เช่น ประเด็นสิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน ในยุทธศาสตร์ด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูงและยั่งยืน โดยอาเซียนจะเป็นพื้นที่สำคัญในการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะเพิ่มความซับซ้อนให้กับไทยและอาเซียนในการวางสถานะต่อการแข่งขันดังกล่าว รวมถึงทำให้ไทยต้องเร่งการยกระดับด้านความยั่งยืนภายในประเทศให้สอดคล้องกับทิศทางข้างต้น ขณะเดียวกัน ก็จะเป็นโอกาสให้ไทยมีทางเลือกมากขึ้นในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งไทยไม่จำเป็นต้องเลือกรับความร่วมมือจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ควรพัฒนาความร่วมมือกับทุกฝ่าย โดยระมัดระวังไม่ให้เกิดผลเชิงลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ การที่ 3BW จะแข่งขันกับ BRI ของจีนในอาเซียน อาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจาก 3BW ล่าช้ากว่าโครงการ BRI อยู่มาก อีกทั้งยังมีมาตรฐานสูง ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือการพัฒนาโครงการในประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียน ซึ่งก็เป็นที่น่าสนใจให้ติดตามต่อไปว่ากลุ่ม G-7 จะพัฒนา 3BW ให้ออกมาเป็นรูปธรรมในลักษณะใด เมื่อใด และจะจูงใจให้อาเซียน รวมถึงไทย เข้าร่วมในยุทธศาสตร์นี้ได้มากน้อยเพียงใด
—————————————————