การเผชิญวิกฤตการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ประเทศทั่วโลกเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2563 ที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (The Great Depression) ปี ค.ศ.1929 อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า รัฐบาลทั่วโลกต้องลดการใช้จ่ายด้านอื่นๆ เพื่อนำมารับมือกับวิกฤตเฉพาะหน้าและรุนแรงด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต ความเป็นความตาย และปากท้องของประชาชนโดยตรงในครั้งนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากพิจารณาตัวเลขข้อมูลเกี่ยวกับตลาดค้าอาวุธโลกและค่าใช้จ่ายทางการทหารทั่วโลก พบว่า เติบโตขึ้นสวนทางกับเศรษฐกิจโลกปี 2563 ที่หดตัว
สถาบัน Stockholm International Peace Research Institute (SIPRI) ของสวีเดนเผยแพร่ Fact Sheet หัวข้อ “The SIPRI Top 100 Arms-Producing and Military Service Companies, 2020” เมื่อ 6 ธันวาคม 2564 ว่า บริษัทผลิตอาวุธขนาดใหญ่ที่สุด 100 แห่งของโลก มีอัตราการเติบโตของยอดขายเมื่อปี 2563 ร้อยละ 1.3 เทียบกับปี 2562 เนื่องจากรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกยังต้องการซื้ออาวุธและการบริการที่เกี่ยวข้อง แม้จะเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจจากการระบาดของโรค COVID-19 นอกจากนี้ ยอดขายของบริษัทอาวุธทั่วโลกยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลเมื่อปี 2543
SIPRI ยังเผยแพร่รายงาน “Trends In World Military Expenditure, 2020” เมื่อ 26 เมษยน 2564 ว่า มูลค่าการใช้จ่ายทางการทหารโลกปี 2563 มีมูลค่า 1,981,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 จากปี 2562 สวนทางกับเศรษฐกิจโลกปี 2563 ที่หดตัว (ติดลบ) ร้อยละ 4.4 จากวิกฤต COVID-19 โดยวิกฤต COVID-19 ไม่ทำให้การใช้จ่ายทางการทหารในระดับโลกลดลง แม้บางประเทศจะลดค่าใช้จ่ายทางการทหารลงค่อนข้างมากเพื่อนำเงินไปใช้รับมือกับ COVID-19 อาทิ ชิลี เกาหลีใต้ บราซิล และรัสเซีย ซึ่งประเทศที่มีการใช้จ่ายทางการทหารสูงที่สุดในโลก ได้แก่ สหรัฐฯ จีน อินเดีย รัสเซีย และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ รวมคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 62 ของทั้งโลก นอกจากนี้ SIPRI ประเมินว่า การใช้จ่ายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในปี 2564 แม้การระบาดยังยืดเยื้อ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
สหรัฐฯ มีการใช้จ่ายทางการทหารสูงที่สุดในโลก รวม 778,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39 ของค่าใช้จ่ายทางการทหารทั่วโลก เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 3 หลังจากลดลงต่อเนื่องกว่า 7 ปี ซึ่งเมื่อปี 2563 เน้นลงทุนในการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งโครงการระยะยาวจำนวนมาก เช่น การพัฒนาคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Arsenal) ให้ทันสมัย และโครงการขนาดใหญ่ในการจัดหาอาวุธ ซึ่งสะท้อนว่าสหรัฐฯ กังวลต่อภัยคุกคามจากคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ เช่น จีน และรัสเซีย และคาดว่า การใช้จ่ายดังกล่าวของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นอีกในปี 2564
จีน มีการใช้จ่ายทางการทหารสูงสุดอันดับ 2 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13 ของค่าใช้จ่ายทางการทหารทั่วโลก โดยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 26 และช่วงปี 2554-2562 ยังเติบโตอย่างก้าวกระโดดที่ร้อยละ 76 เนื่องจากจีนมุ่งพัฒนาศักยภาพทางการทหารให้ทันสมัยและทัดเทียมประเทศมหาอำนาจทางการทหาร เช่น สหรัฐฯ
อินเดีย มีการใช้จ่ายทางการทหารสูงสุดอันดับ 3 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.7 ของค่าใช้จ่ายทางการทหารทั่วโลก โดยมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากความขัดแย้งกับปากีสถานกรณีแคชเมียร์ และความตึงเครียดประเด็นชายแดนกับจีน รวมทั้งการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นระหว่างจีนและอินเดียในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย
อาเซียน มีการใช้จ่ายทางการทหารเพิ่มขึ้น เนื่องจากจีนมีความแข็งกร้าวต่อเนื่องและหลายประเทศมีข้อพิพาทกับจีนในทะเลจีนใต้ โดยสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และไทย มีการใช้จ่ายสูงสุด 3 อันดับแรกตามลำดับ โดยไทยอยู่อันดับที่ 27 ของโลก มีการใช้จ่ายทางการทหาร 7,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.4 ของการใช้จ่ายทางการทหารทั่วโลก เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากปี 2562
ทิศทางที่สวนทางกันระหว่างการใช้จ่ายทางการทหารและตลาดค้าอาวุธโลก กับเศรษฐกิจโลกข้างต้นสะท้อนว่า โลกเผชิญภัยคุกคามจากการแข่งขันและความขัดแย้งระหว่างประเทศที่อาจรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการโจมตีด้วยอาวุธ แม้จะเผชิญภัยคุกคามร่วมกันจากโรค COVID-19 ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าว สอดคล้องกับ World Economic Forum (WEF) ที่แจ้งเตือนตลอด ๑๐ ปีที่ผ่านมาว่า ผลกระทบจากอาวุธทำลายล้างสูงเป็นความเสี่ยงอันดับต้นของความเสี่ยงโลก
ขณะเดียวกัน พล.ร.อ. James Stavridis อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังได้แสดงความเห็นเมื่อ 25 เมษายน 2564 ว่า จีนกับสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะเผชิญหน้าทางการทหาร จากการที่จีนมีพัฒนาการด้านการทหารและเพิ่มจำนวนเรือรบในอินโด-แปซิฟิก อย่างต่อเนื่อง โดยพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ 1) ช่องแคบไต้หวัน 2) ทะเลจีนตะวันออก 3) ทะเลจีนใต้ และ 4) มหาสมุทรอินเดีย เฉพาะอย่างยิ่งบริเวณช่องแคบไต้หวันและทะเลจีนใต้ ซึ่ง พล.ร.อ. Stavridis คาดการณ์ว่า หากสหรัฐฯ ขัดแย้งกับจีนในมหาสมุทรอินเดีย สหรัฐฯ จะขอความร่วมมือจากออสเตรเลีย สิงคโปร์และไทย ให้สนับสนุนปฏิบัติการด้านการทหารของสหรัฐฯ ด้วย ก็เป็นที่น่าติดตามต่อไปว่า โลกและไทยจะรับมือกับทั้งภัยคุกคามจากการแข่งขันและความขัดแย้งระหว่างประเทศที่อาจรุนแรงมากขึ้น ควบคู่ไปกับการรับมือกับภัยคุกคามจากโรคระบาดและผลกระทบทางเศษฐกิจที่ยังคงยืดเยื้อและเกิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องได้อย่างไร
————————————