ในขณะที่หลายฝ่ายกำลังจับตากับการเคลื่อนไหวของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ในฐานะประธานอาเซียน ที่เดินทางเยือนเมียนมาทั้งเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีและหารือให้เมียนมาปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน
.
แต่นอกเหนือจากความเคลื่อนไหวนี้ของกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนแล้ว เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวของหนึ่งในประเทศที่สำคัญที่สุดประเทศหนึ่งที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมา และอยู่ในสถานะเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันกว่า 1643 กิโลเมตร นั่นก็คืออินเดีย
.
เป็นที่น่าแปลกใจมากว่าอินเดียซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแสดงที่ค่อนข้างมีความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ในเมียนมานั้น ไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก และตลอดมานับตั้งแต่การยึดอำนาจในเมียนมา ท่าทีของอินเดียค่อนข้างมีความน่าสนใจโดยเฉพาะการไม่วิจารณ์รัฐบาลทหารเมียนมาอย่างรุนแรง หรือการยังคงตัดสินใจสานสัมพันธ์กับรัฐบาลชุดใหม่ต่อ
.
แม้หลายเดือนที่ผ่านรัฐบาลอินเดียจะมีท่าทีนิ่งเงียบต่อสถานการณ์ในเมียนมา และพยายามยืนกรานและสนับสนุนแนวทางของอาเซียนในการจัดการกับเมียนมามาโดยตลอด แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ตามแนวพรมแดนอินเดีย-เมียนมาที่กลับมาวิกฤตอีกครั้ง โดยเฉพาะการฟื้นตัวของกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนที่เริ่มเคลื่อนไหวในเมียนมาอีกครั้ง
.
ปัจจัยนี้ส่งผลให้อินเดียไม่สามารถนิ่งเฉยต่อเมียนมาได้อีกต่อไป เพราะการเคลื่อนไหวเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อความมั่นคงภายในประเทศของอินเดีย โดยเฉพาะในรัฐภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ที่ยังคงมีกลุ่มก่อความไม่สงบแบ่งแยกดินแดนเคลื่อนไหวอยู่
.
ฉะนั้นหากสถานการณ์ภายในเมียนมายังคงไม่สงบ และรัฐบาลอินเดียยังไม่มีสายสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับรัฐบาลชุดใหม่ ปรากฏการณ์เช่นนี้ย่อมเปิดโอกาสให้บรรดากลุ่มแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้สามารถใช้เมียนมาเป็นฐานโจมตีอินเดียได้ นั่นย่อมไม่เป็นผลดีอย่างยิ่งต่ออินเดียในระยะยาว
.
ดังนั้นเมื่อ 22-23 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา อินเดียได้ส่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ Harsh Vardhan Shringla เดินทางเยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นการส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงเยือนเมียนมาเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการยึดอำนาจเมื่อต้นปี 2564
.
สำหรับการเดินทางเยือนในครั้งนี้ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของอินเดียได้มีการเข้าพบและพูดคุยหารือกับพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ไหล่ง์ ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลคนปัจจุบันของเมียนมาด้วย โดยได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับข้อห่วงกังวลต่อสถานการณ์ในเมียนมาของอินเดีย โดยอินเดียเรียกร้องให้ทางเมียนมากลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว และปล่อยตัวนักโทษการเมืองด้วย
.
แต่หากพิจารณาและวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว การพบปะกันในครั้งนี้ อินเดียมีเป้าหมายหลักคือการหารือเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงตามแนวพรมแดนเป็นหลัก และต้องการความร่วมมือจากรัฐบาลทหารเมียนมาในการให้ความช่วยเหลือ เพราะก่อนหน้านี้ต้องบอกว่าความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างอินเดียและเมียนมาค่อนข้างมีความใกล้ชิด
.
ตลอดหลายปีที่ผ่านมากองทัพเมียนมาให้การช่วยเหลือกองทัพอินเดียหลายเรื่องในการกวาดล้างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่อาศัยพื้นที่ตามแนวพรมแดนสองประเทศในการฝึกกองกำลัง และเมื่อหลายปีก่อนกองทัพเมียนมายังให้การสนับสนุนกองทัพอินเดียในการทำลายฐานที่มั่นของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในเมียนมาอีกด้วย
.
ฉะนั้นกล่าวได้ว่าการกลับมารวมตัวกันและฝึกกองกำลังของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอินเดียในเมียนมาเป็นเหตุผลจำเป็นอย่างยิ่งที่อินเดียต้องปรับท่าทีต่อรัฐบาลทหารเมียนมาใหม่ โดยเฉพาะต้องเดินเกมเชิงรุกในการพูดคุยมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาความมั่นคงภายในประเทศ
.
ประเด็นความมั่นคงนี้เองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้อินเดีย เดินเกมการต่างประเทศไม่ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านอื่นของเมียนมา นั่นคือพยายามพูดคุยมากกว่าใช้นโยบายที่รุนแรงต่อเมียนมา เน้นโน้มน้าวพูดคุย เจรจา มากกว่าที่จะงัดไม้แข็งมาใช้
.
ที่สำคัญอินเดียย่อมเล็งเห็นว่าหากยังคงเลือกโดดเดี่ยวเมียนมาเช่นนี้ จะส่งผลให้อิทธิพลของจีนเข้ามาในเมียนมาได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีเท่าไหร่นักต่ออินเดีย
.
เรียบเรียงจาก
– https://indianexpress.com/article/india/harsh-vardhan-shringla-myanmar-visit-7683700/
.
ผู้เขียน
ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
กำลังศึกษาปริญญาเอกที่คณะการจัดการ และทำงานเป็นนักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแถบและเส้นทาง มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน สนใจประเด็นการต่างประเทศ การเมือง และพลังงานในภูมิภาคเอเชียใต้และจีน