ความเคลื่อนไหวล่าสุดของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย หรือ SET Index ปัจจุบันแสดงให้เห็นได้ชัดว่ากำลังอยู่ในช่วงพยายามจะทดสอบแนวต้านระยะสั้น (local resistance) ครั้งที่ 2 ที่บริเวณ 1,680 อยู่ หลังจากถูกแรงเทขายเมื่อสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2565 จนดิ่งลบไปกว่า 20 จุด โดยมีโซน 1,650 ซึ่งเป็นแนวต้าน ที่เปลี่ยนมาเป็นแนวรับสามารถรับไว้ได้จนเกิดแรงซื้อคืนกลับมาในช่วงสัปดาห์ที่ 2 หาก SET Index ไม่มีแรงเทขายจนลงทะลุไปต่ำกว่าโซน 1,650 อีกในระยะสั้นจะเป็นการยืนยันตลาดขาขึ้น (confirmed breaking out and revisit) ครั้งแรกหลังจากอยู่ในสภาวะตลาดไร้ทิศทาง (sideway) มาตลอดระยะเวลากว่า 6 เดือน ตั้งแต่ช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน 2564 ซึ่งเป้าหมายหลักที่ SET Index จะพุ่งขึ้นไป ยังคงเป็นแนวต้านเดิมจากอัตราส่วน 94.2% และ 100% Fibonacci ที่บริเวณ 1,710-1,750 (ตามกรอบสี่เหลี่ยมสีเขียวดังภาพ) อันเป็นจุดสูงสุดเดิม (previous high) ก่อนที่ตลาดจะทยอยถูกแรงเทขายจนเข้าสู่ขาลงในช่วงปี 2562
ในทางเทคนิคแล้ว เป้าหมายระยะยาวของ SET Index ปี 2565 นี้ยังคงเป็นเหมือนเดิม คือ การพยายามกลับไปที่โซน 1,800 และทะลุแนวต้านขึ้นไปที่จุดสูงสุดใหม่ (All-Time High) บริเวณ 1,900-2,000 ให้ได้ นอกจากนี้ หากเลื่อนลงมาดูที่เครื่องมือ Relative Strength Index (RSI) ที่ใช้วัดปริมาณแรงซื้อ-แรงขายในตลาด จะเห็นได้ชัดว่าแม้ปัจจุบันปริมาณโมเมนตัมของแรงซื้อที่วัดได้จะยังมีไม่มาก เมื่อเทียบกับช่วงปีที่ผ่านมา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันค่า RSI กำลังพยายามขยับขึ้นไปแตะที่บริเวณ 64 หลังจากสามารถทะลุแนวต้านของสัญญาณการกลับตัวเป็นขาลง (bearish divergence) ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2563 มาได้ โดยหาก SET Index จะสามารถปรับตัวขึ้นไปต่อได้ ค่า RSI ควรจะยืนเหนือโซน 62-63 และไม่ควรลงไปต่ำกว่า 60 หรือเส้นแนวทแยงสีดำ (trendline) บริเวณกล่องสี่เหลี่ยมสีเขียวบนเครื่องมือ RSI ตามภาพ เพื่อเป็นการหักล้างสัญญาณกลับตัวจาก bearish divergence อีกทั้งหากพิจารณาจากมุมที่กว้างขึ้น จะเห็นว่าปัจจุบันกำลังเกิดกรอบสามเหลี่ยมขาขึ้นบนกราฟของแรงซื้อ-แรงขายจาก RSI (bullish ascending triangle) ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ที่อาจช่วยสะท้อนให้เห็นว่าช่วงของการที่ตลาดพักตัว (continuation pattern) กำลังจะจบลง และตามมาด้วยตลาดขาขึ้น
เช่นเดียวกับสัญญาณแรงซื้อจากเส้นค่าเฉลี่ย (MACD) ที่ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการเกิดสัญญาณการกลับตัวเป็นขาลง หากเส้นสีน้ำเงินสามารถลากเส้นสีส้มไขว้ขึ้นไปเหนือบริเวณเลข 0 และทะลุผ่านแนวต้านโซน 20-25 ได้สำเร็จ จะถือเป็นการยืนยันตลาดขาขึ้นแล้วมีแรงซื้อเข้ามาช่วยผลักมูลค่าของ SET Index ให้ทะยานขึ้นไปทดสอบแนวต้านที่ 1,700 ในอนาคตได้ อย่างไรก็ดี สิ่งที่พึงระวังคือ ปัจจุบันแรงซื้อในตลาดกำลังแผ่วบางลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในกรณีดังกล่าวนี้หากเกิดสถานการณ์ที่สัญญาณ MACD ไม่สามารถทะลุผ่านแนวต้านโซน 20 ขึ้นไปข้างบนได้ อาจมีแรงเทขายเข้ามาในปริมาณมาก จากปัจจุบันที่เส้นค่าเฉลี่ยนั้นค่อนข้างอยู่ใกล้บริเวณ 0 หากมีแรงเทขายเข้ามากระตุ้น อาจส่งผลให้เส้นค่าเฉลี่ยจาก MACD นั้นไขว้กันลงไปในโซนที่ต่ำกว่า 0 และนำไปสู่ตลาดขาลงและช่วงตลาดพักตัวอีกครั้งได้
สุดท้ายนี้ สิ่งที่นักลงทุนพึงระวังมากที่สุดคือ ในกรอบระยะยาวนั้นดัชนี SET Index กำลังสร้างรูปแบบการขยับของราคาในลักษณะขาขึ้นที่มีแรงเหวี่ยงสวิงแคบลงเรื่อยๆ (rising wedge) ที่มีฐานเริ่มมาตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2563 ทำให้นักลงทุนสายเทคนิคัลหลายกลุ่มมองถึงแนวโน้มเกิดการกลับตัวเป็นขาลงในอนาคต หาก SET Index ไม่สามารถทะลุผ่านแนวต้านที่บริเวณ 1,710 ขึ้นไปได้ แล้วมีแรงเทขายเข้ามาจนหลุดโซน 1,620-1,650 อาจส่งผลให้กราฟของ SET Index เริ่มเสียทรงขาขึ้น และมีโอกาสหลุดกรอบแนวรับตามกรอบในภาพแรก (rising wedge) แล้วนำไปสู่ตลาดขาลงได้ โซนดังกล่าวนี้จึงไม่ใช่จุดที่นักลงทุนระยะยาวส่วนใหญ่ตัดสินใจเข้าซื้อ เพราะมีอัตราส่วนความเสี่ยงต่อกำไรที่จะได้รับ (risk-rewards ratio) ที่ต่ำ
***บทความนี้เป็นบทความสรุปความเคลื่อนไหวของตลาดเงินและตลาดทุน ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน The Intelligence มีข้อพิจารณาว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ก่อนตัดสินใจลงทุน***