ปัจจุบันราคาหมูในหลาย ๆ ประเทศกำลังปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรง โดยมีสาเหตุหลักมาจากเรื่องของอุปทานหมุนเวียนในตลาด (circulating supply) และโรคระบาดทางอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์ฟาร์มที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงปัจจัยส่งเสริมด้านอื่น อย่างเช่น ภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาหมูปรับราคาเพิ่มขึ้นตามกลไกตลาด ไม่เพียงเฉพาะแต่ในไทย ในมิติทางเศรษฐกิจนั้น นักลงทุนและนักเก็งกำไรในตลาดส่วนใหญ่มักจะใช้ดัชนี HE1! หรือ Lean Hogs Futures อันเป็นสัญญาซื้อ-ขายล่วงหน้ารูปแบบหนึ่ง เพื่อประเมินสถานการณ์และทิศทางการเคลื่อนตัวของราคาหมูในตลาดโลกเป็นหลัก โดยอิงหน่วยการประเมินผ่านค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ต่อปอนด์ (Lbs) ซึ่งปัจจุบัน ราคาหมูในตลาดโลกที่ปิดแท่งไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเหนือราคา 80.9 เซ็นต์ ต่อปอนด์ มีแนวโน้มสูงที่จะกำลังอยู่ในช่วงกลับตัวจากระยะพักตัวตามกรอบทแยงลง (descending channel) ไปสู่ภาวะขาขึ้น (uptrend)
ในเบื้องต้นราคาหมูนั้นได้ทะลุกรอบแนวต้านราคา 78.675 เซ็นต์ ต่อปอนด์ มาได้สำเร็จแล้ว แต่ถูกแนวต้านบริเวณ 84 เซ็นต์ ขวางเอาไว้ จึงจำเป็นต้องย่อลงมาแตะแนวรับบริเวณ 78.675 เซ็นต์ อีกครั้งเพื่อจะใช้แรงซื้อจากนักลงทุนที่ตั้งคำสั่งซื้อรอไว้ผลักดันราคาให้ขึ้นไปต่อ (confirmed revisit) เพื่อพยายามทะลุแนวต้าน 84 เซ็นต์ อีกครั้ง โดยตลาดหมูจะรักษาแรงเหวี่ยง (momentum) ในขาขึ้นรอบใหม่นี้ไว้ให้ได้ ราคาจะต้องไม่ลงไปต่ำกว่า 78-79 เซ็นต์ ต่อปอนด์ ซึ่งในกรณีที่ราคาหมูสามารถทะลุแนวต้านที่ 84 เซ็นต์ ไปได้ภายในกุมภาพันธ์ 2565 และหากยังมีแรงซื้อโถมตามเข้ามาในปริมาณมาก จะมีเป้าราคาแนวต้านถัดไปอยู่ที่ 89-92 เซ็นต์ โดยอาจได้เห็นการขึ้นไปทดสอบแนวดังกล่าวภายในช่วงปลายไตรมาส 1 อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ราคาหมูร่วงลงไปในจุดที่ต่ำกว่า 74 เซ็นต์ อาจส่งผลกระทบทางจิตวิทยาต่อนักลงทุนในตลาดที่จะกังวลถึงสัญญาณหลอกของตลาดขาขึ้น (fake-out) จนอาจทยอยเทขายและทำให้ราคาร่วงลงมาที่แนวรับ 70 เซ็นต์ ได้
สำหรับปัจจัยส่งเสริมจากเครื่องมือ RSI ที่ใช้สำหรับประเมินระดับแรงซื้อ-แรงขายในตลาด จะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีสัญญาณการกลับตัวเป็นขาขึ้น (bullish divergence) ปรากฏขึ้นตั้งแต่ช่วงระหว่างตุลาคม-ธันวาคมปี 2564 ที่ผ่านมา จากการมีแรงเทขายสินทรัพย์น้อยลงแล้วแทนที่ด้วยแรงซื้อที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนค่า RSI สามารถผ่านแนวต้านโซน 47-50 ขึ้นไปได้อย่างง่ายดาย ปัจจุบันค่า RSI ของราคาหมูในตลาดโลกกำลังย่อลงมาเพื่อทดสอบแนวรับโซน 47-50 เพื่อพิสูจน์ความเป็นตลาดขาขึ้น โดยจะต้องมีแรงซื้อพยุงขึ้นไปให้ค่า RSI สามารถยืนเหนือโซน 50 และไปให้ทะลุแนว 55-59 ให้ได้ โดยไม่ลงมาต่ำกว่า 45 อีก เพื่อไม่ให้การขยับของกราฟเสียรูปทรงของขาขึ้น ภาพรวมของราคาหมูจึงค่อนข้างอยู่ในลักษณะขาขึ้น และมีแนวโน้มจะขึ้นได้อีกเรื่อยๆ เนื่องจากช่วงพักตัวของราคาหลังจากที่เคยขึ้นไปทำจุดสูงสุดบริเวณราคา $1.22 ต่อปอนด์เมื่อกลางปี 2564 ได้จบลงแล้วที่แนวรับบริเวณ 70.325 เซ็นต์ ตามอัตราส่วน 61.8% Fibonacci ดังนั้นในระยะสั้นราคาหมูต้องกลับตัวขึ้นอย่างแน่นอน
อีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนมุมมองขาขึ้นของราคาหมูขณะนี้ คือ เส้นค่าเฉลี่ย MACD ที่แสดงให้เห็นถึงแรงซื้อปริมาณมากกำลังพยายามผลักดันราคาหมูให้ขึ้นไปอยู่เหนือเส้น 0 อีกทั้งความห่างระหว่างเส้นค่าเฉลี่ย MACD สีน้ำเงินและเส้นสีส้ม ยังเป็นข้อบ่งชี้ที่ดีว่าราคาหมูยังไม่มีสัญญาณของการย่อในระยะสั้น และมีโอกาสที่จะถูกลากขึ้นไปอีกได้ หากจะมีการย่อ ก็จะเป็นเพียงการย่อหลังแตะเส้น 0 และพุ่งไปต่อเท่านั้น โดยสาเหตุที่มีแรงซื้อเข้ามาในปริมาณมากนี้เป็นเพราะช่วงก่อนหน้า มีแรงเทขายสัญญาซื้อ-ขายล่วงหน้าของหมูในตลาดโลกปริมาณมากจนกราฟราคาถูกลากออกจากจุดสูงสุดไปจนค่าเฉลี่ย MACD ติดลบไปมากกว่า 12 ดังนั้นเมื่อถึงแนวรับสำคัญตามอัตราส่วน Fibonacci และราคาฐานในอดีต จึงมีการกลับตัวของราคาที่ค่อนข้างชัดเจน