การรวมกลุ่มพันธมิตรและหุ้นส่วนที่มีผลประโยชน์สอดคล้องกัน เป็นแนวทางที่สหรัฐฯ ใช้เสริมสร้างความมั่นคงและรักษาบทบาทมหาอำนาจทั่วโลก การมีพันธมิตรทั่วโลกเหมือนจะเป็นหลักประกันให้สหรัฐฯ มั่นใจว่า สหรัฐฯ จะได้รับการยอมรับ แม้ว่าในเชิงภูมิศาสตร์ สหรัฐฯ จะแยกออกห่างจากทวีปอื่น ๆ แต่เครือข่ายพันธมิตรของสหรัฐฯ นี้จะต้อนรับสหรัฐฯ เสมอเมื่อต้องการผลักดันนโยบายหรือยุทธศาสตร์ที่เอื้อต่อการรักษาสถานะมหาอำนาจที่สำคัญของโลก
ประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดนของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับพันธมิตรด้านความมั่นคงในเอเชียอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าตั้งแต่เข้าปี 2565 เป็นต้นมา ก็ต้องยุ่งอยู่กับความขัดแย้งทางการเมืองภายในที่สมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติไม่ยอมอนุมัติร่างงบประมาณสำคัญ ๆ อีกทั้งยังต้องควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และโดนโจมตีจากภาวะเงินเฟ้อสูง แต่ “การระหว่างประเทศ” ก็เป็นหน้าที่ที่ผู้นำสหรัฐฯ ไม่ได้ละเลย เห็นได้จากกรณีเมื่อ 21 มกราคม 2565 ประธานาธิบดีไบเดนได้ย้ำระหว่างการประชุมออนไลน์กับผู้นำญี่ปุ่นว่า ตนเองจะเยือนญี่ปุ่นแบบ in-person เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มความร่วมมือ 4 ฝ่าย หรือ QUAD (ชื่อเต็ม คือ Quadrilateral Security Dialogue ประกอบด้วยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและอินเดีย) เร็ว ๆ นี้
นี่เป็นสัญญาณที่ดีว่า สหรัฐฯ ยังให้ความสำคัญกับ QUAD แม้ว่าเมื่อเดือนกันยายน 2564 จะประกาศตั้งกรอบความร่วมมือไตรภาคีอย่าง AUKUS ที่เป็นรูปธรรมมากกว่ากับออสเตรเลียและสหราชอาณาจักรไป จนทำให้นักวิเคราะห์บางส่วนคิดว่า สหรัฐฯ จะทิ้ง QUAD และไปทุ่มเทกับ AUKUS แทน เพราะในขณะที่ AUKUS มีการตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อผลักดันความร่วมมือเรื่องการสร้างเรือดำน้ำ การแลกเปลี่ยนด้านการทหาร และความร่วมมือด้านเทคโนโลยีมีความคืบหน้า ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างสมาชิกทั้ง 3 ประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อ 22 มกราคม 2565 สหราชอาณาจักรกับออสเตรเลียได้หารือในกรอบความมั่นคงทวิภาคี หรือ Australia UK Foreign and Defence Ministerial meetings (AUKMIN) ไปเป็นครั้งแรก จนอาจเรียกได้ว่า การตั้ง AUKUS ทำให้สหรัฐฯ สหราชอาณาจักรและออสเตรเลียมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ในทางกลับกัน กลุ่ม QUAD ในระยะหลังกลับถูกสื่อจีนอธิบายว่าเป็นการรวมตัวอย่างหลวม ๆ แม้จะมีการประชุมระดับผู้นำแบบออนไลน์ไปเมื่อเดือนกันยายน 2564 โดยที่อินเดียยังสงวนท่าที ไม่ได้ตอบรับว่าจะร่วมมือกับอีก 3 ประเทศเพื่อสกัดกั้นจีนหรือไม่ เพราะอินเดียไม่มีนโยบายเป็นพันธมิตร แต่เป็นกลาง และไม่ขัดแย้งกับประเทศมหาอำนาจใด
ญี่ปุ่นน่าจะเป็นฝ่ายยินดีต่อท่าทีของสหรัฐฯ มากที่สุด โดยเสนอให้จัดการประชุมสุดยอดกลุ่ม QUAD ที่ญี่ปุ่นภายใน 6 เดือนแรกของปี 2565 แม้จะยังไม่มีกำหนดการที่ชัดเจน แต่คาดว่าการประชุมดังกล่าวอาจต้องรอให้การเลือกตั้งในออสเตรเลียในเดือนพฤษภาคม 2565 ผ่านพ้นไปก่อน จากนั้น…เราอาจได้เห็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของกลุ่ม QUAD ที่จะเล่นประเด็นความมั่นคงได้กว้างกว่า AUKUS เพราะ QUAD แตะไว้แล้วทั้งเรื่องการแก้ไขวิกฤตโลกร้อน การสร้างห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน การส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงและเทคโนโลยีอุบัติใหม่ และได้แสดงความตั้งใจที่จะร่วมมือกับอาเซียน โดยส่งเสริมอาเซียนให้เป็นแกนกลางของภูมิภาค ต้องการร่วมมือกับอาเซียน 3 ด้านหลัก ๆ ได้แก่ ควบคุมโรค COVID-19 แก้ไขปัญหาโลกร้อน และพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญ ขณะเดียวกันก็ปรับโทนในการเข้าหาอาเซียนในนุ่มนวลขึ้นด้วยการย้ำว่า QUAD ไม่กดดันให้อาเซียนเลือกข้างใด ซ้ำยังสนับสนุนวิสัยทัศน์ของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิกด้วย
คาดว่า QUAD แห่งเอเชียกำลังจะกลับมาเป็นผู้ขับเคลื่อนภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้ และอาจดึงเอา “like-minded partners” อย่างสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรเข้ามาร่วมมือในประเด็นที่สร้างสรรค์ในภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งประเทศเล็ก ๆ อย่างไทยก็คงจะคาดหวังความร่วมมือที่สอดคล้องกัน ไม่กระตุ้นความขัดแย้งกับประเทศอื่น ๆ และไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงมนุษย์ในภูมิภาค
———————————————-