การฝึกร่วมทางทะเลระหว่างอิหร่าน จีน และรัสเซีย ที่ชื่อรหัส “2022 Marine Security Belt” ในบริเวณตอนเหนือของมหาสมุทรอินเดียเมื่อ 21 มกราคม 2565 ได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศทั่วโลก เนื่องจากการฝึกร่วมทางทะเลครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่ความตึงเครียดจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนในยุโรป และตะวันออกกลางกำลังปะทุขึ้นใหม่ จากกรณีที่เนโตและยูเครนวิตกว่ารัสเซียจะใช้กำลังทหารบุกรุกและแทรกแซงยูเครนเหมือนเมื่อปี 2557 และกรณีอิหร่านถูกจับตาเพราะอยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวของกลุ่มฮูษีในเยเมนที่อ้างความรับผิดชอบในการก่อเหตุโจมตีคลังน้ำมันและท่าอากาศยานในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates – UAE) เมื่อ 17 มกราคม 2565 ขณะที่จีนเผชิญแรงกดดันจากประเทศตะวันตกที่วิจารณ์แนวปฏิบัติของจีนต่อชาวมุสลิมอุยกูร์
ความสัมพันธ์ระหว่าง 3 ประเทศที่ขยับเข้าใกล้และเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น ทำให้สื่อหลายสำนักประเมินว่า ความร่วมมือระหว่างรัสเซีย อิหร่าน และจีนที่ใกล้ชิดเป็นการส่งสัญญาณให้ประเทศตะวันตกเห็นว่า ทั้ง 3 ประเทศกำลังร่วมมือกัน โดยมีความพร้อมในการต้านทานทุกแรงกดดัน ทั้งในมิติการทหาร การทูต และเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ขยายความเป็นไปได้ที่จะเกิด “กลุ่มพันธมิตร” ใหม่ที่เป็นขั้วตรงข้ามกับโลกตะวันตก
จริง ๆ แล้ว การฝึกร่วมทางทะเลระหว่างอิหร่าน จีน และรัสเซียไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะทั้ง 3 ประเทศเคยฝึกร่วมทางทะเลกันไปแล้วเมื่อปี 2562 ในมหาสมุทรอินเดียและอ่าวโอมาน สำหรับการฝึกครั้งนี้ อิหร่านระบุว่าเป็นการเสริมความร่วมมือด้านการทหารเพื่อส่งเสริมสันติภาพ และความมั่นคงทางทะเลระหว่างกัน โดยประกอบด้วยการฝึกทางเทคนิค การกู้ภัยเรือที่ประสบอุบัติเหตุ และการโจมตีตอนกลางคืน ซึ่งน่าจะสร้างความขัดข้องใจให้สหรัฐฯ และพันธมิตรไม่น้อย เห็นได้จากสหรัฐฯ และเนโตก็ประกาศจะซ้อมร่วมทางทะเลในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในปลายเดือนมกราคม 2565 เช่นกัน โดยส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Harry Trueman มาเป็นกำลังหลัก
แม้การฝึกครั้งนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ความร่วมมือของทั้ง 3 ประเทศในห้วงที่สถานการณ์โลกคุกรุ่นในหลายพื้นที่นี้ก็น่าชวนให้คิดว่า ความร่วมมือนี้เป็นไปเพื่อป้องปรามภัยคุกคามและแสดงแสนยานุภาพแบบ “เฉพาะกิจ” ที่จะมาเมื่อมีภัยร่วมกันเท่านั้น หรือจะเป็นความร่วมมือแบบ “ระยะยาว” ที่เราประเมินได้เลยว่าจะได้เห็นทั้ง 3 ประเทศจับมือกันอีกทั้งในการฝึกร่วม การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการทหาร รวมไปถึงการตั้งกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และในมิติอื่น ๆ เท่าที่ทั้ง 3 ประเทศจะร่วมมือกันได้ เพื่อสร้างระเบียบโลกใหม่ที่สหรัฐฯไม่ได้เป็นผู้เขียน
เมื่อดูจากนโยบายของทั้ง 3 ประเทศที่ต่างฝ่ายต่างแสวงหาหุ้นส่วนที่สามารถเติมเต็ม “ความมั่นคง” และปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ โดยที่ไม่มีเงื่อนไขอุดมการณ์ทางการเมืองมาเป็นอุปสรรคขัดขวาง ก็จะเห็นได้ว่า…มีความเป็นไปได้สูงที่การขยายความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซีย อิหร่าน และจีนจะเป็นรูปแบบระยะยาว
การกระชับความร่วมมือกับรัสเซียและจีน เป็นนโยบาย “look east” ของรัฐบาลประธานาธิบดี Ebrahim Raisi ของอิหร่านที่ต้องการพัฒนาความร่วมมือกับรัสเซียและจีนมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา อิหร่านเข้าร่วมองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation-SCO) เมื่อเดือนกันยายน 2564 อีกทั้งเมื่อมกราคม 2565 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิหร่านก็เยือนจีนและรัสเซียเพื่อหารือกันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ อิหร่านคงต้องการให้รัสเซียและจีนอยู่ข้างอิหร่านในการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ (Joint Comprehensive Plan of Action-JCPOA) ที่ยังไม่คืบหน้าไปถึงไหน เพราะข้อตกลงนี้จะทำให้อิหร่านพ้นจากมาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติ
สำหรับจีน การพัฒนาความสัมพันธ์กับอิหร่านและรัสเซียเป็นประโยชน์ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ พลังงาน และการดำเนินนโยบายต่างประเทศ โดยอิหร่านเป็นช่องทางที่จีนจะเพิ่มอิทธิพลและขยายบทบาทในตะวันออกกลาง ซึ่งเมื่อปี 2564 จีนกับอิหร่านลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจในฐานะหุ้นส่วน 25 ปี ที่จีนจะลงทุนมูลค่า 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอิหร่าน แลกกับที่อิหร่านจะส่งน้ำมันให้จีน เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางพลังงาน ส่วนความร่วมมือกับรัสเซียก็ใกล้ชิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้นำ และการเพิ่มความร่วมมือในทุกมิติในภูมิภาคเอเชียและอาร์กติก
ส่วนรัสเซียก็มีนโยบายพัฒนาความร่วมมือกับจีนในฐานะประเทศเพื่อนบ้านและหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่พึ่งพากันด้านเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน รัสเซียก็มุ่งรักษาอิทธิพลในอิหร่านอยู่แล้ว เพราะอิหร่านถือว่าเป็นพื้นที่สกัดกั้นการขยายอิทธิพลของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางที่สำคัญอย่างยิ่งต่อรัสเซีย ซึ่งรัสเซียร่วมมือกับอิหร่านตั้งแต่การปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย Islamic State (IS) ในซีเรีย การปฏิบัติการด้านความมั่นคงในอัฟกานิสถาน และปัจจุบันอยู่ระหว่างทำข้อตกลงความร่วมมืออย่างครอบคลุมระยะ 20 ปี
ความร่วมมือของทั้ง 3 ประเทศในปัจจุบันยังไม่ถึงระดับ “พันธมิตร” ตามรูปแบบของสหรัฐฯ และอาจไม่ถึงระดับจะโค่นล้มระเบียบโลกเดิมหรือสร้างระเบียบโลกใหม่อย่างที่ประเทศตะวันตกกังวล เพราะทั้ง 3 ประเทศก็ยังต้องการร่วมมือกับนานาชาติ รวมทั้งประเทศตะวันตกที่มีผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจผูกพันกันอยู่ ขณะเดียวกันก็ยังมีประเด็นที่อาจจะไม่เห็นดีเห็นงามกันไปทุกเรื่อง เห็นได้จากการที่จีนสงวนท่าทีประเด็นสถานการณ์ในยูเครน และปรากฏข่าวสารว่าทั้ง 3 ประเทศก็ยังปฏิบัติการต่อต้านข่าวกรองระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่า ท้ายที่สุดทั้ง 3 ประเทศก็ยังมีประเด็นที่เป็นผลประโยชน์แห่งชาติที่ต้องการปกป้องไว้อย่างเด็ดขาด แต่ก็พร้อมที่จะร่วมมือกัน เมื่อคำนึงว่า “ความอยู่รอด” ของประเทศสามารถรักษาไว้ได้ด้วยความร่วมมือ
——————————————————