สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางการศึกษาระดับโลก และได้เปิดรับนักศึกษาและนักวิจัยจากต่างประเทศเข้าไปเพิ่มพูนความรู้และแลกเปลี่ยนมุมมองกับนักวิชาการชาวอเมริกันมาโดยตลอด และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์ หรือ STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics) ก็เป็น 1 ในสาขาวิชาที่สถาบันในสหรัฐฯ ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ให้การสนับสนุน STEM เพราะความรู้ความสามารถในสาขานี้จะมีความสำคัญต่อการพัฒนาวิทยาการของสหรัฐฯ ให้ล้ำหน้า และครองความเป็นมหาอำนาจในทั้ง 4 สาขา
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่ทุ่มเทเรื่องการศึกษาสาขา STEM จากรายงานของนิตยสาร Forbes เมื่อปลายปี 2564 ก็พบว่า ปัจจุบันสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นอันดับ 1 ของสาขา STEM อีกต่อไป แต่อยู่ที่อันดับ 3 รองจากจีนและรัสเซีย โดย Forbes อ้างหลักฐานจากการแข่งขันวิชาการ International Academic Olympiads และการจัดอันดับของ Center for Excellence in Education ซึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ สลับอยู่อันดับ 1 และ 2 มาอย่างต่อเนื่อง ส่วนประเทศที่ได้อันดับรองจากสหรัฐฯ ได้แก่ ไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เวียดนาม โรมาเนีย ฮ่องกง และอิหร่าน
เรื่องการตกมาอยู่อันดับ 3 ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ อยู่เฉยไม่ได้!!… เพราะความเหนือกว่าด้านวิทยาการวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมและเทคโนโลยีจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันเพื่อเป็นมหาอำนาจโลกในยุคใหม่ ที่ STEM กลายเป็นพลังอำนาจของประเทศต่าง ๆ เพราะความก้าวหน้าด้านสาขา STEM อาจเป็นกุญแจสำคัญสู่การพ้นจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 วิกฤตโลกร้อน รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอื่น ๆ ที่สำคัญทั้งด้านการสื่อสาร การทหาร และการสำรวจ
นอกจากนี้ การสูญเสียความเป็นเลิศด้าน STEM ศึกษาอาจทำให้สถาบันวิชาการในสหรัฐฯ ไม่สามารถดึงความสนใจของนักศึกษา นักวิจัย และนักวิชาการต่างประเทศได้ และทำให้สถาบันศึกษาในสหรัฐฯ เสี่ยงสูญเสียรายได้ส่วนหนึ่งจากบุคลากรต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งเมื่อปี 2563 สหรัฐฯ ทำรายได้อย่างน้อย 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากการเปิดรับนักศึกษาต่างชาติ และกิจกรรมที่เกิดจากการรับนักศึกษาต่างชาติยังทำให้เกิดการจ้างงานในสหรัฐฯ อย่างน้อย 410,000 ตำแหน่งด้วย
รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังแก้เกมด้วยการประกาศโครงการเปิดรับนักศึกษา นักวิจัย และนักวิชาการสาขา STEM จากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่ง highlight ของโครงการนี้ คือ ขยายเวลาให้นักศึกษาในสาขาดังกล่าวได้วีซ่า J-1 หรือวีซ่าเพื่อชาวต่างชาติที่เข้าไปแลกเปลี่ยนในโครงการของสหรัฐฯ เพื่ออยู่ในสหรัฐฯ ได้นานขึ้นอีก 36 เดือน เพื่อได้รับโอกาสฝึกงาน หรือฝึกอบรมด้านการศึกษากับบริษัทและธุรกิจชั้นนำในสหรัฐฯ ผ่านโครงการ BridgeUSA โดยโครงการส่งเสริมการดึงดูดบุคลากรด้าน STEM ของรัฐบาลชุดนี้จะขับเคลื่อนไปแบบ whole government approach หมายถึงทุกหน่วยงานร่วมกันปฏิบัติคนละไม้คนละมือเพื่อส่งเสริมเป้าหมายเดียวกัน
การที่รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้โครงการอบรมกับบริษัทและธุรกิจชั้นนำในสหรัฐฯ เสริมด้วยการขยายวีซ่าให้อยู่ต่อในสหรัฐฯ ได้นานขึ้นน่าจะทำให้สถาบันในสหรัฐฯ กลับมาได้รับความสนใจจากนักศึกษา นักวิจัย และนักวิชาการสาขา STEM จากทั่วโลก รวมทั้งไทย ที่มีความร่วมมือด้านการพัฒนา STEM ศึกษากับสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 2558 และสหรัฐฯ ก็เน้นย้ำว่าความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐฯ มาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้โอกาสทางเศรษฐกิจจากกิจกรรมของนักศึกษาและนักวิจัยต่างชาติ รวมทั้งได้โอกาสศึกษาและเรียนรู้จากบุคลากรที่หลากหลาย รวมทั้งสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้าน STEM จากทั่วโลก ที่จะฝึกงานและมีโอกาสทำงานในสหรัฐฯ มากขึ้น
แต่ แต่ แต่…เราอยากชวนให้ติดตามต่อไปว่าสหรัฐฯ จะรับมืออย่างไรกับบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญด้าน STEM จากจีนและรัสเซีย คู่แข่ง 2 ประเทศที่สหรัฐฯ หวาดระแวงมาโดยตลอดว่าจะส่ง “สายลับ” เข้ามาเรียนรู้แลกเปลี่ยนเพื่อดูดข้อมูลสำคัญไปจากสหรัฐฯ …ดังนั้น ถ้าหากสหรัฐฯ ป้องกันสายลับจีนและรัสเซียด้วยมาตรการจำกัดโควตาก็อาจถูกโจมตีว่าสหรัฐฯ สองมาตรฐาน หรือถ้าสหรัฐฯ เปลี่ยนแนวทางด้วยการให้บุคลากร STEM จากจีนและรัสเซียเข้ามา และเปลี่ยนให้พวกเขาเป็น “เครือข่าย” ให้สหรัฐฯ แทน..ก็อาจเป็นเรื่องท้าทาย แต่สร้างประโยชน์ให้กับสหรัฐฯ ได้ในระยะยาว
———————————————————-