หุ้น GULF หรือ GULF Energy Development กลายเป็นที่กล่าวถึงในสังคมออนไลน์อีกครั้ง หลังมีการแถลงข่าวเซ็น MOU ร่วมกับบริษัท Binance ที่เป็นเจ้าของกระดานซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัลอันดับ 1 ของโลกเพื่อวางแผนศึกษาความเป็นไปได้และแนวทางในการก่อตั้งกระดานซื้อ-ขายสัญชาติไทยแข่งกับกระดานของ Bitkub ที่ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ โดยมีเป้าหมายที่จะชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก ทำให้การเคลื่อนไหวของราคา GULF เปิดสัปดาห์มาด้วยการ +4% ขึ้นไปที่ราคา 52.75 บาท ก่อนเจอแรงขายทำกำไรจากนักลงทุนบางส่วนที่มีสัดส่วนกำไรประมาณ +30% จากการช้อนซื้อมาตั้งแต่ช่วงตุลาคม-พฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ตัดสินใจเทขายที่บริเวณแนวต้านตามอัตราส่วน 161.8% Fibonacci ราคาจึงถูกลากกลับลงมาที่บริเวณ 50-51 บาท ซึ่งเป็นแนวต้านเก่าที่ GULF พยายามจะทะลุขึ้นมาเมื่อปี 2564
จากมุมมองทางเทคนิคัล ปัจจุบันหุ้น GULF กำลังอยู่ในขาขึ้นอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้จากการทะลุแนวต้านกรอบสามเหลี่ยม (bullish ascending triangle) ที่เป็นจุดพักตัว (continuation phase) จนทำให้หุ้น GULF ต้องเข้าสู่สภาวะไร้ทิศทาง (sideway) ในบริเวณกรอบราคาระหว่าง 25-30 บาท ไปเมื่อปลายปี 2562-2564 โดยการทะลุแนวต้านออกมา พร้อมกับย่อลงมาสร้างฐานที่บริเวณราคา 40 บาท (confirmed revisit) เมื่อธันวาคม 2564 นี้ ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกในรอบ 2 ปี อีกทั้งล่าสุด หุ้น GULF ยังสามารถทะลุผ่านแนวต้านราคา 45 บาท ออกไปได้อย่างง่ายดาย หากแรงซื้อจากนักลงทุนรายย่อย (retailers) ที่ตามรายใหญ่เข้ามายังไม่ลดลง ราคา GULF อาจจะขึ้นไปทดสอบแนวต้านตามอัตราส่วน 361.8% Fibonacci ได้ที่บริเวณ 55-60 บาทได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 นี้ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันอาจจะยังไม่ถือว่าเป็นจุดเข้าซื้อที่ดี โดยเฉพาะกับผู้ที่มีแผนการลงทุนระยะสั้น เพราะราคา GULF กำลังขยับอยู่ที่บริเวณแนวต้านตามอัตราส่วน 161.8% Fibonacci ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่นักลงทุนระยะสั้นกลุ่มอื่นๆในตลาดจะทยอยขายหุ้นบางส่วน (take profit) ที่ตนเองถือไว้ก่อนหน้านี้เพื่อทำกำไร
กรณีที่ GULF ไม่สามารถปรับราคาขึ้นไปผ่านแนวต้าน 161.8% Fibonacci ได้ แนวรับแรกในอนาคตหากราคา GULF จะร่วงลงมา จึงอยู่ที่บริเวณ 45 บาท ซึ่งเป็นแนวต้านเดิมของช่วงตุลาคมปีที่ผ่านมา โดยหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้นจริง สิ่งที่นักลงทุนพึงสังเกต คือ หาก GULF จะรักษาแรงซื้อ และสภาวะอารมณ์ของนักลงทุนในตลาดให้มีความเชื่อมั่นว่ายังอยู่ในขาขึ้น ราคา GULF จะต้องไม่ถูกเทขายจนดิ่งลงมาเกินกว่าบริเวณ 39-40 บาท เพราะหากราคาหลุดลงมาต่ำกว่า 39 บาท หรือ 36 บาท จะทำให้การเคลื่อนที่ของกราฟเสียรูปทรงขาขึ้น และส่งผลทางจิตวิทยาต่อนักลงทุนในตลาดให้มีการเทขายเพื่อทำกำไรบริเวณแนวต้านเมื่อกราฟขยับขึ้นไปทดสอบแนวต้านเดิม (failed rebound)
สุดท้าย เมื่อพิจารณาจากปัจจัยด้านเครื่องมือ RSI ที่ใช้วัดแรงซื้อ-ขาย จะเห็นว่าปัจจุบันแรงซื้อหุ้น GULF ยังคงมีเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยังไม่มีสัญญาณการกลับตัวเป็นขาลง (bearish divergence) เกิดขึ้นในไตรมาสนี้ ทั้งนี้ แม้ว่าจะยังไม่มีสัญญาณกลับตัวเกิดขึ้นบนเครื่องมือ RSI แต่ราคาปัจจุบันนั้นยังไม่ถือว่าเป็นจุดซื้อที่สมเหตุสมผล ในกรณีที่จะเข้าซื้อหุ้น GULF ให้ปลอดภัย ควรเลือกช่วงเวลาที่ราคา หรือค่า RSI ย่อลงมาที่บริเวณแนวรับ 60-68 โดยไม่ลงไปต่ำกว่า 52-53 ก่อน นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องคำนึงก่อนพิจารณาเข้าซื้อ คือ ค่า RSI ของ GULF นั้นแสดงให้เห็นว่าปัจจุบันแม้ราคาจะสามารถทะลุแนวต้านออกมาเหนือ 40 บาทได้แล้ว แต่ถ้ามองในภาพใหญ่ จะเห็นว่าแรงซื้อในตลาดช่วงปัจจุบันมีน้อยกว่าเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วอย่างชัดเจน โอกาสที่ GULF จะพุ่งขึ้นไปในอัตราส่วนและมีผลกำไร (potential upside) เทียบเท่ากับผู้ที่เข้าซื้อช่วงก่อนปี 2562 จึงมีต่ำลงไปด้วย นักลงทุนในตลาดจึงควรวางแผนในการยอมขายเพื่อขาดทุน (cut loss) ในสถานการณ์ที่ราคาหุ้นดิ่งลงไปต่ำกว่าจุดซื้อของตนเอง
***บทความนี้เป็นบทความสรุปความเคลื่อนไหวของตลาดเงินและตลาดทุน ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน The Intelligence มีข้อพิจารณาว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ก่อนตัดสินใจลงทุน***