เมื่อกล่าวถึงสินค้าที่มีความต้องการทางตลาดค่อนข้างสูงมาตลอดภายในอุตสาหกรรมการเกษตรทั่วโลกนั้นคงเลี่ยงข้าวโพดไม่ได้ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มักถูกนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ในฟาร์ม (livestock feeds) และวัตถุดิบในการประกอบอาหาร เช่น แป้งข้าวโพด น้ำมันข้าวโพด และเครื่องปรุงรูปแบบต่างๆ ข้าวโพดจึงเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นดัชนีให้นักลงทุนในตลาดสามารถเก็งกำไรกับการขึ้น-ลงของราคาได้ไม่ต่างจากสินค้าอื่นๆ อาทิ กาแฟ น้ำส้ม ข้าวสาลี เนื้อหมู และเนื้อวัว ที่ปัจจุบันนั้นราคาล้วนแต่กำลังอยู่ภาวะขาขึ้น จากผลของอัตราเงินเฟ้อที่กลายมาเป็นตัวแปรสำคัญในการเร่งให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา จากราคาประมาณ $5 ต่อบุชเชลในช่วงตุลาคมปีที่ผ่านมา ขึ้นมาเป็น $6.16 ต่อบุชเชล ช่วงหลังปีใหม่ แม้ราคาจะยังไม่สามารถผ่านขึ้นไปยืนเหนือแนวต้านที่ $6.20 ต่อบุชเชลได้ก็ตาม
หากพิจารณาผ่านมุมมองทางเทคนิค จะเห็นได้ว่าตลาดค้าขายข้าวโพดนั้นใช้เวลาในการพักตัวอยู่เกือบครึ่งปี ตั้งแต่พฤษภาคม-ตุลาคม ปี 2564 ที่ผ่านมา หลังจากไม่สามารถผ่านขึ้นไปยืนเหนือแนวต้านราคาโซน $7 และ $7.20 ต่อบุชเชลได้ ทำให้มีนักลงทุนจำนวนมากในตลาดทยอยเทขายจนราคาร่วงลงมาย่ำกับที่ (sideway) อยู่ต่ำกว่า $5.85 ต่อบุชเชลจนถึงช่วงเกือบสิ้นปี 2564 (บริเวณกล่องสี่เหลี่ยมสีม่วงตามภาพที่ 1) โดยราคาข้าวโพดสามารถทะลุขึ้นมายืนเหนือกรอบสีม่วงได้สำเร็จเมื่อช่วงธันวาคม 2564 แม้จะยังติดแนวต้านที่ $6.15-$6.20 แต่หากราคาข้าวโพดสามารถขึ้นไปเหนือแนวต้าน $6.20 ได้สำเร็จจะเป็นการยืนยันความต่อเนื่องของตลาดขาขึ้นในไตรมาสนี้ โดยมีเป้าหมายขึ้นไปทดสอบโซนแนวต้าน 61.8% Fibonacci ที่บริเวณ $6.45-$6.60 ซึ่งเป็นจุดแนวต้านสำคัญที่นักลงทุนส่วนใหญ่มองเอาไว้เพื่อเทขายทำกำไรสำหรับผู้ที่ช้อนซื้อมาตั้งแต่บริเวณ $5.20 ช่วงตุลาคม (ซึ่งมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง)
โดยหากนักลงทุนมีการเทขายที่บริเวณ 61.8% Fibonacci จริง ราคาข้าวโพดอาจย่อลงมาที่บริเวณ $5.70 และ $5.50 ตามลำดับ เพื่อสร้างฐานราคา ในปลายไตรมาสที่ 1 ปี 2565 นี้ นักลงทุนที่ต้องการจะเก็งกำไรจากราคาข้าวโพด อาจต้องสังเกตบริเวณแนวต้านตามกล่องสี่เหลี่ยมสีเขียว (ตามภาพที่ 1) อย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันการเทขายในตลาด ปัจจุบันยังไม่ปรากฏสัญญาณการกลับตัวเป็นขาลงในเครื่องมือ RSI ที่ใช้วัดแรงซื้อ-ขาย แม้ค่า RSI ที่เคลื่อนตัวอยู่บริเวณแนว 60 จะแสดงให้เห็นถึงภาวะที่แรงซื้อมีเบาบางลงก็ตาม แต่เนื่องจากยังไม่มีแรงเทขายของนักลงทุนในตลาดแทรกเข้ามาจนกราฟค่า RSI หักหัวลง จึงยังไม่สามารถตั้งข้อสรุปถึงสัญญาณการกลับตัว (bearish divergence) ได้ นอกจากนี้กราฟค่า RSI ของราคาข้าวโพดยังพยายามเคลื่อนตัวไปหาแนวต้านกรอบสามเหลี่ยม (ตามภาพที่ 2) ที่บริเวณแนว 64-65 จึงยังพอมีโอกาสให้ราคาข้าวโพดปรับตัวขึ้นเพื่อไปทดสอบแนวต้านก่อนจะเกิดการย่อในอนาคตได้
ท้ายสุด สิ่งที่ต้องสังเกตและเฝ้าระวัง คือ เส้นค่าเฉลี่ย MACD นั้นกำลังอยู่ในจุดที่ใกล้กับแนวรับ 0 มากที่สุดในรอบ 3-4 เดือน ซึ่งเป็นจุดที่นักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อกันว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างสูงหากเส้นค่าเฉลี่ยสีแดงและสีน้ำเงินไขว้กันแล้วลากกราฟลงไปอยู่ต่ำกว่าแนว 0 ที่เป็นสัญญาณขาลง หรือพักตัว บวกกับปัจจัยด้านการเทขายที่บริเวณแนวต้าน Fibonacci ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการลากราคาให้ดิ่งลงได้ไม่ยาก ดังนั้นสิ่งที่จะเป็นตัวแปรชี้วัดสถานะทางตลาดของข้าวโพด จึงเป็นแรงซื้อที่ต้องเข้ามาช่วยพยุงและผลักค่า MACD ให้ไขว้กันขึ้นไปอยู่เหนือแนวต้านตามกรอบสีแดง (ตามภาพที่ 3) ให้ได้ เพื่อลบล้างสัญญาณการกลับตัวจากค่า MACD และพยุงราคาตลาดให้สามารถยังรักษาแรงขาขึ้นต่อไป
***บทความนี้เป็นบทความสรุปความเคลื่อนไหวของตลาดเงินและตลาดทุนฯลฯ ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน The Intelligence มีข้อพิจารณาว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ก่อนตัดสินใจลงทุน***