สถานการณ์ทางการเมืองของอินเดียในปี 2565 จะเข้มข้นขึ้น จากการที่พรรคการเมืองสำคัญ ทั้งพรรคภารติยะ ชนะตะ (Bharatiya Janata Party-BJP) พรรคแกนนำรัฐบาลอินเดียในปัจจุบัน และพรรคคองเกรส แกนนำฝ่ายค้าน จะแข่งขันสร้างคะแนนนิยมในการเลือกตั้งท้องถิ่นในหลายรัฐ/ดินแดนสหภาพ ตลอดปี ชัยชนะในการเลือกตั้งเหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญให้พรรคการเมืองปรับแนวทางดำเนินนโยบาย หรือยุทธศาสตร์ของพรรค เพื่อสร้างชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2567 อย่างไรก็ตาม กระแสฮินดูชาตินิยมยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการเมืองอินเดีย และการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังเป็นปัจจัยสำคัญท้าทายคะแนนนิยมของรัฐบาล
พรรค BJP ต้องการรักษาอำนาจบริหารในรัฐกัว มณีปุระ อุตตรประเทศ อุตระขัณฑ์ หิมาจัลประเทศ คุชราต โดยเฉพาะในรัฐอุตตรประเทศที่ชัยชนะจากการเลือกตั้งจะค้ำประกันว่าพรรค BJP จะมีโอกาสครองเสียงข้างมากในโลกสภา หรือสภาผู้แทนราษฎรของอินเดีย เนื่องจากรัฐอุตตรประเทศมีสัดส่วน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)ถึง 80 ตำแหน่ง จากจำนวน ส.ส.ที่อินเดียมีทั้งหมด 543 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม พรรค BJP ยังเจอความท้าทายสำคัญในการสร้างคะแนนนิยมก่อนการเลือกตั้งทั่วไป เนื่องจากนาย Amit Shah รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอินเดีย ซึ่งพรรค BJP เริ่มวางตัวอย่างไม่เป็นทางการให้เป็นผู้แทนชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2567 ยังไม่มีความนิยมเท่านายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ คนปัจจุบัน
พรรคคองเกรสเจอความท้าทายที่จะรักษาคะแนนนิยมในการเลือกตั้งทั่วไป เนื่องจากสมาชิกพรรคคองเกรสสนับสนุนนายราหุล คานที หัวหน้าพรรคคองเกรสน้อยลง เป็นผลจากกรณีที่นายราหุลยืนยันจุดยืนต้องการแยกศาสนาออกจากการเมือง แต่ยังคงย้ำความสำคัญของศาสนาฮินดู ซึ่งไม่สอดคล้องกับทิศทางการเมืองของอินเดียในปัจจุบันที่มีความเป็นฮินดูนิยมชัดเจนยิ่งขึ้น อีกทั้งนางปริยังกา คานที วาททรา ทายาททางการเมืองคนสำคัญคนที่ 2 ของตระกูลคานที ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก นอกจากนี้ คนอินเดียมีแนวโน้มไม่เห็นด้วยกับแนวทางบริหารของพรรคคองเกรสที่เน้นเลือกแกนนำพรรคจากตระกูลทางการเมือง ไม่นำเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
ส่วนพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น พรรคอาม อาดมี (Aam Aadmi Party-AAP) ซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่และชนะการเลือกตั้งท้องถิ่นดินแดนสหภาพเดลีเมื่อปี 2563 อยู่ระหว่างหาเสียงในรัฐและดินแดนสหภาพที่จะจัดเลือกตั้งในปี 2565 เช่นกัน โดยพยายามนำเสนอความสำเร็จของพรรคที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร การบริหารสถานการณ์ COVID-19 รวมทั้งการแก้ปัญหาฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในดินแดนสหภาพเดลี ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งท้องถิ่นรัฐปัญจาบ ช่วงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ – 10 มีนาคม 2565 พรรค AAP มีแนวโน้มจะได้รับคะแนนนิยมมากกว่าพรรคคองเกรส ซึ่งครองอำนาจบริหารของรัฐปัญจาบตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2560 เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ของรัฐปัญจาบต้องการพรรคการเมืองที่มีแนวทางบริหารงานโดยให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชนมากขึ้น
กระแสฮินดูชาตินิยมเป็นปัจจัยสำคัญขับเคลื่อนการเมืองของอินเดีย และเป็นแรงสนับสนุนสำคัญของพรรค BJP เนื่องจากคนอินเดียกว่าร้อยละ 78 นับถือศาสนาฮินดู มีองค์กรภาคประชาสังคมขนาดใหญ่ที่สนับสนุนแนวคิดฮินดูชาตินิยม ตัวอย่างสำคัญคือ Rashtriya Swayamsevak Sangh (RSS) ที่ขับเคลื่อนปลูกฝังแนวคิดฮินดูชาตินิยมแก่ประชาชน ใช้วาทะกรรมให้ผู้สนับสนุนเชื่อในแนวคิดฮินดูชาตินิยม สนับสนุนนักการเมืองที่เลื่อมใสในแนวทางบริหารประเทศตามแนวคิดฮินดู สร้างกระแสเกลียดกลัวชาวมุสลิม เฉพาะอย่างยิ่งการรับประทานเนื้อวัว ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญตามความเชื่อของศาสนาฮินดู ที่อาจกระตุ้นให้ความขัดแย้งระหว่างศาสนาในอินเดียรุนแรงขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ การเมืองอินเดียยังเจอความท้าทายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งในมิติของการหาเสียงและการบริหารจัดการสถานการณ์แพร่ระบาด เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญทางสาธารณสุขระบุว่า อินเดียเผชิญการแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกที่ 3 ในห้วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐอุตตรประเทศ มณีปุระ ปัญจาบ อุตตราขัณฑ์ และกัว จัดการเลือกตั้ง ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งอินเดียห้ามพรรคการเมืองอินเดียจัดกิจกรรมปราศรัยที่มีผู้คนมารวมตัวกัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในห้วงที่พรรคการเมืองเร่งรณรงค์หาเสียง และเกิดเป็นการแพร่ระบาดขนานใหญ่ (Super Spreader) ขณะเดียวกัน แนวทางการบริหารจัดการสถานการณ์ COVID-19 และมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจจะเป็นอีกปัจจัยส่งผลต่อคะแนนนิยมของพรรค BJP และพรรคคองเกรส
ในมุมของไทย ผลการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นของอินเดียจะส่งผลต่อแนวทางการดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องกับนักลงทุนไทย ทั้งในส่วนที่กำลังดำเนินธุรกิจในอินเดีย และอยู่ระหว่างตัดสินใจไปลงทุนในอินเดีย กับทั้งจะส่งผลต่อแนวโน้มการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ ของอินเดีย ในห้วงการเลือกตั้งทั่วไปปี 2567 ที่จะเป็นปัจจัยกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศ รวมทั้งแนวทางดำเนินนโยบายต่างประเทศของอินเดียในอนาคต ซึ่งจะเป็นมิติสำคัญที่จะส่งผลต่อการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินเดียต่อไป
——————————————————————–