แม้ว่าธนาคารกลางของสหรัฐ (FED) จะประกาศว่ายังไม่มีนโยบายขึ้นดอกเบี้ยภายใน 2 เดือนนี้ ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น Bitcoin เริ่มคลายกังวล และแสดงให้เห็นถึงแรงซื้อที่ทยอยเข้ามาช้อนซื้อ Bitcoin ในช่วงราคา $34,000-$35,000 ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา จนแท่งเทียนที่สะท้อนการเคลื่อนที่ของราคาสามารถปิดเป็นสีเขียวได้มาเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ แต่ Bitcoin ก็ยังคงไม่สามารถทะลุผ่านแนวต้านบริเวณราคา $39,000-$40,000 ขึ้นไปได้ เนื่องจากยังมีนักลงทุนจำนวนมากในตลาดมีความกังวลว่า FED อาจตัดสินใจประกาศขึ้นดอกเบี้ยภายในการประชุม (FOMC Meeting) ครั้งต่อไปในมีนาคม-2565 ทำให้ผู้ที่ช้อนซื้อ Bitcoin ช่วงกลางเดือนทยอยเทขายสินทรัพย์ทิ้งเพื่อทำกำไร (TP) ระยะสั้นทันทีเมื่อราคาขยับไปถึงแนวต้านสำคัญ เนื่องจากนักลงทุนยังไม่เชื่อมั่นว่าตลาด Cryptocurrency จะฟื้นตัวขึ้นในเร็วๆนี้ ดังจะสังเกตได้จากแท่งเทียนที่แสดงผลราคาช่วงปลายมกราคมนั้นมีลักษณะทิ้งไส้ยาวทั้งด้านบนและด้านล่าง (ตามกรอบสี่เหลี่ยมสีเหลือง ภาพที่ 1) สะท้อนถึงความลังเลของทิศทางตลาดในปัจจุบัน
เมื่อพิจารณาผ่านมุมมองทางเทคนิคัล จะเห็นได้ว่าราคาของ Bitcoin พุ่งขึ้นทันทีเมื่อราคาดิ่งลงไปแตะแนวรับ $33,000 เนื่องจากแนวรับดังกล่าวเป็นแนวรับสำคัญระดับรองที่อยู่ใกล้จุดต่ำสุดของปี 2564 มากที่สุดในรอบ 6 เดือน ทำให้ราคามีการปรับตัวกลับขึ้นไปในทันที (rebound) หาก Bitcoin ยังสามารถรักษาแรงซื้อไว้ได้อาจจะขึ้นไปทดสอบแนวต้านที่ $39,000 อีกครั้งภายในสัปดาห์แรกของกุมภาพันธ์ 2565 โดยมีอุปสรรคสำคัญคือแนวต้านตามกรอบทแยง (descending channel) ที่คอยเป็นกำแพงทางจิตวิทยากดราคาให้นักลงทุนเกิดความกังวลและเทขายในที่สุด (ตามกรอบเส้นสีม่วงในภาพที่ 1) และหาก Bitcoin ไม่สามารถผ่านแนวต้านเส้นสีม่วงเพื่อขึ้นไปยืนเหนือราคา $39,000-$40,000 ได้ อาจมีแรงเทขายจากนักลงทุนจนราคาย่อกลับลงมาที่แนวรับ $33,000 อีกครั้งในช่วงกลางกุมภาพันธ์ 2565 และหากแรงเทขายมีปริมาณมาก ราคา Bitcoin อาจดิ่งลงมาแตะแนวรับที่ $29,000-$30,000 ซึ่งเป็นแนวรับแนวสำคัญด่านสุดท้ายที่จะต้องเป็นตาข่ายรองรับราคา Bitcoin ไว้ให้ได้ (วงกลมสีเขียวตามภาพที่ 1) เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาดิ่งลงไปเกินกว่า $24,000
อีกความเป็นไปได้หนึ่งของ Bitcoin คืออาจจะเคลื่อนที่ไปตามกรอบสี่เหลี่ยมสีเหลืองตามภาพที่ 1 (sideway) โดยมีจังหวะราคาขึ้น-ลงอย่างจำกัด เพื่อสร้างฐานราคา (accumulation) โดยการที่ไม่หลุดลงไปต่ำกว่าราคา $33,000 ถือเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อกราฟ Relative Strength Index (RSI) ที่ปัจจุบันกำลังสร้างส่งสัญญาณการกลับตัวให้เห็น (hidden bullish divergence) ตามภาพที่ 2 ซึ่งค่า RSI ได้ลงมาแตะโซน 30-32 และกำลังพยายามจะทะลุแนวต้านเส้นสีแดงออกไปยืนเหนือค่า 33 ในกุมภาพันธ์ และหากค่า RSI สามารถขยับขึ้นไปที่บริเวณ 38-40 ได้ แม้ราคาดิ่งลงมาต่ำกว่า $33,000 (แต่ไม่หลุดลงไปถึง $30,000) จะถือเป็นการส่งสัญญาณกลับตัวครั้งใหญ่ผ่านการเปลี่ยนแปลงของปริมาณแรงที่ปรากฏในซื้อเครื่องมือ RSI (bullish divergence) และส่งผลให้นักลงทุนในตลาดเชื่อว่าตลาดอาจมีแนวโน้มกลับตัวเป็นขาขึ้นได้จากแรงซื้อที่เพิ่มมากขึ้น แล้วทยอยเข้าซื้อเพื่อดันราคาให้ขึ้นไปยืนเหนือ $40,000 ภายในช่วงปลายกุมภาพันธ์ 2565 ได้
และเมื่อพิจารณาร่วมกับเส้นค่าเฉลี่ย MACD จะเห็นได้ว่าแม้ค่าเฉลี่ยของ MACD จะยังเคลื่อนตัวอยู่ในกรอบ -5,500 และ -7,000 มาตั้งแต่ปลายธันวาคม ปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีการหลุดลงไปต่ำกว่าแนวรับกรอบสีแดง (ตามภาพที่ 3) อีกทั้งยังมีการขยับขึ้นไปใกล้กับแนวต้านบนกรอบแดง (higher low) ด้วย สะท้อนให้เห็นถึงแรงซื้อที่ค่อยๆเพิ่มเข้ามาในตลาดทีละน้อย ของนักลงทุนรายใหญ่และกองทุนต่างๆที่พยายามช้อนซื้อ Bitcoin ในราคาต่ำกว่า $35,000 ดังนั้น เป้าหมายภายในเดือนนี้ จึงเป็นการที่เส้นค่าเฉลี่ย MACD สามารถทะลุแนวต้านขึ้นไปยืนเหนือค่า -5,500 ให้ได้ ทั้งนี้ จากการพิจารณาของค่า MACD จากเลข 0 นั้นอาจต้องใช้เวลามากกว่า 2 เดือน กว่าที่เส้นสีน้ำเงินและสีส้มบนกราฟ MACD จะสามารถพุ่งกลับมาทดสอบแนวต้านบริเวณเลข 0 ที่เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการกลับตัวเป็นขาขึ้นอีกครั้ง
โดยสรุปแล้ว แนวรับที่มีผลทางจิตวิทยาต่อราคา Bitcoin จึงยังคงอยู่ที่บริเวณ $30,000 และ $33,000 เช่นเดิม เนื่องจากเป็นแนวรับลำดับท้ายๆของปี 2564 ทำให้มีนักลงทุนจำนวนมากตั้งคำสั่งซื้อรอเอาไว้จนเกิดกำแพงแนวต้านที่ค่อนข้างหนา และมีแนวโน้มจะเกิดจุดกลับตัวของราคาได้ ในกรณีที่ราคา Bitcoin ถูกทุบลงมาจนแตะบริเวณ $30,000 ในอนาคต
***บทความนี้เป็นบทความสรุปความเคลื่อนไหวของตลาดเงินและตลาดทุนฯลฯ ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน The Intelligence มีข้อพิจารณาว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ก่อนตัดสินใจลงทุน***