เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมานี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีน หวัง อี้ ได้เดินทางเยือนมัลดีฟส์อย่างเป็นทางการ โดยการเดินทางเยือนในครั้งนี้นำมาซึ่งข้อตกลงระหว่างประทศมากมาย โดยเฉพาะการเพิ่มงบประมาณการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในมัลดีฟส์เพิ่มเติม ตลอดจนการลงนามในข้อตกลงด้านวีซ่าระหว่างสองประเทศ
.
อิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นในประเทศแห่งนี้กำลังเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ภายในมหาสมุทรอินเดีย และส่งผลให้การแข่งขันด้านอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างจีนและอินเดียซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลอยู่เดิมในพื้นที่ดังกล่าว เข้มข้นมากยิ่งขึ้น
.
ก่อนที่อิทธิพลของจีนจะเข้ามาภายในมัลดัฟส์นั้น ต้องบอกว่าอินเดียถือเป็นประเทศที่มีบทบาทและอิทธิพลมากที่สุดเหนือประเทศหมู่เกาะเล็ก ๆ นี้ อินเดียถือเป็นชาติแรก ๆ ของโลกที่รับรองและมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับมัลดีฟส์นับตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 2508
.
ยิ่งไปกว่านั้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ยังชี้ชัดว่ารัฐบาลนิวเดลีให้การสนับสนุนและหนุนหลัง ประธานาธิบดี Maumoon Abdul Gayoom ให้ครองอำนาจในมัลดีฟส์ตลอดช่วงปี 2521-2551
.
สำคัญที่สุดคือในปี 2531 อินเดียได้เข้าแทรกแซงการเมืองมัลดีฟส์ผ่านการช่วยเหลือให้เกิดการกระทำรัฐประหารในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อคงอำนาจของรัฐบาลที่ตัวเองหนุนเอาไว้
.
นอกเหนือจากเรื่องเหล่านี้แล้วอินเดียยังเป็นผู้สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและมนุษยธรรมที่สำคัญของมัลดีฟส์ตลอดมาอีกด้วย และภายหลังมัลดีฟส์เปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อินเดียก็ให้การสนับสนุนเรื่องดังกล่าวอย่างมากโดยเฉพาะให้การหนุนหลังประธานาธิบดี Mohamed Nasheed
.
จุดเปลี่ยนสำคัญทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและมัลดีฟส์ อันนำมาซึ่งการเปิดทางให้จีนเข้ามาในสมการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เกิดขึ้นในช่วงปี 2556 ภายหลังเกิดความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศมัลดีฟส์จนส่งผลให้ประธานาธิบดี Abdulla Yameen ขึ้นสู่อำนาจ
.
ในช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลปักกิ่งได้ขยายอิทธิพลทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจผ่านโครงการข้อริเริ่มแถบและเส้นทางเข้ามาในมัลดีฟส์ ภายใต้ช่วงที่ความสัมพันธ์อินเดีย-มัลดีฟส์ไม่สู้ดีนัก จนเป็นเหตุให้จีนเข้ามาหยั่งรากทางความสัมพันธ์กับมัลดีฟส์ได้เป็นผลสำเร็จผ่านโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ตลอดจนการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสองชาติ
.
ในปี 2561 จีนได้ประสบความสำเร็จในการยกระดับรันเวย์ของท่าอากาศยานนานาชาติของมัลดีฟส์ รวมถึงการสร้างสะพานใหม่ที่เชื่อมระหว่างเมืองหลวงกรุงมาเลย์กับเกาะฮูลฮุมาเล แน่นอนว่าการพัฒนาเหล่านี้มาพร้อมการแบกรับหนี้สินกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐของรัฐบาลมัลดีฟส์ที่กู้ยืมจากจีน ซึ่งเป็นยอดหนี้ที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับ GDP
.
อย่างไรก็ตามสามเหลี่ยมความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นใหม่ระหว่างมัลดีฟส์-อินเดีย-จีน นี้ได้เขยื่อนอีกครั้งภายหลังการเลือกตั้งปี 2561 ซึ่งส่งผลให้ประธานาธิบดี Mohamed Ibrahim Solih ขึ้นสู่อำนาจ และเขาได้พยายามเข้าหาอินเดียอีกครั้งเพื่อลดทอนอิทธิพลของจีน ผ่านนโยบาย “India First”
.
รัฐบาลอินเดียได้อนุมัติเงินช่วยเหลือกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับรัฐบาลมัลดีฟส์เพื่อใช้คืนเงินกู้ของจีน และสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญภายในประเทศมัลดีฟส์ด้วย
.
อย่างไรก็ตามนโยบายเข้าหาอินเดียที่มากเกินไปของประธานาธิบดี Mohamed Ibrahim Solih ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจของชาวมัลดีฟส์บางส่วนจนนำมาซึ่งการรณรงค์แคมเปญ “India Out” ในมัลดีฟส์ขึ้น
.
ปัจจัยนี้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบายการต่างประเทศภายในมัลดีฟส์ จากแรงกดดันทางการเมืองภายในประเทศ และในที่สุดมัลดีฟส์ก็หันมาพูดคุยกับจีนอีกครั้ง
.
การเดินทางเยือนของผู้นำระดับสูงของจีนในรอบนี้จึงตอกย้ำถึงอิทธิพลของจีนที่มีเหนือมัลดีฟส์ที่กลับมาเพิ่มอีกครั้งภายหลังเกิดปัญหาในปี 2561 ซึ่งก็อาจต้องอธิบายว่านี่คือความพยายามของประเทศขนาดเล็กในการรักษาดุลแห่งอำนาจกับประเทศขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลเหนือตนเองทั้งจีนและอินเดีย
.
ผู้เขียน
ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
กำลังศึกษาปริญญาเอกที่คณะการจัดการ และทำงานเป็นนักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแถบและเส้นทาง มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน สนใจประเด็นการต่างประเทศ การเมือง และพลังงานในภูมิภาคเอเชียใต้และจีน