ของขวัญต้อนรับปีใหม่สำหรับผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างคริปโตเคอเร็นซี (Cryptocurrency) นั้นอาจจะไม่ค่อยน่าปลื้มเท่าไหร่ เนื่องจากมูลค่าของ บิตคอยน์ (bitcoin) ซึ่งถือเป็น 65% ของคริปโตเคอเร็นซี ดิ่งลงอย่างต่อเนื่องกว่า 50% จนหลายคนหวาดหวั่นว่า นี่จะเป็นจุดจบของคริปโตเคอเร็นซี และกำลังเริ่มมองหาการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ
สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่มูลค่าเหรียญที่ลดลง เพราะการที่มูลค่าบิตคอยน์ขึ้นลงอย่างรวดเร็วก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามปกติของสินทรัพย์ประเภทนี้ แต่การประกาศเก็บภาษีคริปโตเคอเร็นซีในไทยทำให้นักลงทุนหลายคนเริ่มคิดทบทวนเกี่ยวกับสินทรัพย์นี้ และมีแนวโน้มที่จะไปเทรดในแพลทฟอร์มต่างประเทศ แทนการเทรดผ่านแพลตฟอร์มในไทย เนื่องจากเห็นว่าการคิดมูลค่าภาษีที่ประกาศออกมาภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 นั้นยังขาดความชัดเจนและความเป็นเหตุเป็นผลที่สมควร
และล่าสุดกับการประกาศห้ามใช้คริปโตเคอเร็นซีในการชำระหนี้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กำหนดห้ามไม่ให้ร้านค้าและผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ โฆษณาว่าสามารถแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการด้วยคริปโตเคอเร็นซี หรือประกอบกิจกรรมใดๆ ที่เอื้อต่อการชำระค่าบริการด้วยคริปโตเคอเร็นซี แม้จะยังไม่ได้มีการดำเนินการอย่างเป็นทางการ แต่การกระทำนี้ก็ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการถือสินทรัพย์ดิจิทัล
กรณีนี้เป็นอีกครั้งที่ “เครื่องมือทางภาษี” เข้ามามีบทบาทในการสร้างแรงกระตุ้นในเรื่องที่เกี่ยวกับการผลักดันเรื่องต่างๆ เช่น การยกเว้นการเก็บภาษีจากการขายหุ้น เพื่อกระตุ้นให้นักลงทุนสนใจการซื้อหุ้นที่ส่งผลดีต่อการขยายตัวของภาคธุรกิจ แน่นอนว่า การเสียภาษีจากรายได้ประเภทต่าง ๆ เป็นสิ่งที่พึงกระทำ แต่การเก็บภาษีคริปโตเคอเร็นซี อาจทำให้การลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีในไทยไม่น่าดึงดูดใจนัก และอาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันหากจะเป็นศูนย์กลางของธุรกิจตัวแทนการแลกเปลี่ยนมูลค่าคริปโตเคอเร็นซี หรือเสียโอกาสใหม่ที่จะสามารถดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในประเทศ โดยหวังจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่การส่งออกและการท่องเที่ยวยังคงซบเซา และต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว
เมื่อหนทางในการใช้คริปโตในไทยเริ่มไม่ชัดเจน ในขณะที่ลาว มีโอกาสจากการเป็นแบตเตอร์รี่ของภูมิภาค เปิดโอกาสให้การเปิดเหมืองขุดบิตคอยน์ โดยใช้โอกาสจากความเป็นสินทรัพย์ออนไลน์ในการเลือกตำแหน่งที่ตั้งสำนักงานขุดบิตคอยน์ไว้ใกล้แหล่งพลังงานหรือเขื่อนต่างๆ และทำการซื้อขายเข้าสู่ระบบออนไลน์ไร้สายอยู่แล้ว จึงเป็นโอกาสการสร้างรายได้จากแหล่งพลังงานที่มีต้นทุนต่ำกว่าการเดินสายส่งพลังงาน ด้านสิงคโปร์ก็ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางของคริปโตเคอเร็นซี ในฐานะศูนย์กลางการเงินของโลก
แม้คริปโตเคอเร็นซีจะยังคงไม่ได้รับการยอมรับ และถูกกีดกันจากบางประเทศ แต่ปัจจุบันมีนักลงทุนไทยกว่า 2 ล้านบัญชีที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมากอยู่ในช่วงอายุ 30 – 45 ปี ซึ่งเป็นวัยแรงงานและเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงมีประเด็นว่าจะสามารถมองเห็นโอกาสจากเทคโนโลยีนี้ได้มากน้อยเพียงใด ขณะที่มูลค่าของบิตคอยน์ที่ร่วงดิ่งลงในช่วงต้นปีนี้จะดีดตัวกลับขึ้นมาให้นักลงทุนพึงพอใจได้เหมือนที่ผ่านมาได้อีกครั้งเมื่อไหร่ ก็ยังคงเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก ….ทั้งนี้ผู้ลงทุนจึงควรบริหารความเสี่ยงด้วยการหาโอกาสลงทุนในช่องทางอื่นๆ เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ในโลกเสมือน (metaverse) หรือแม้แต่สินทรัพย์ดั้งเดิม เช่น พันธบัตรรัฐบาลหรือทองคำ ที่ก็เริ่มกลับมาได้รับความน่าสนใจจากนักลงทุนอีกครั้งนั่นเอง
————————————————————-