ล่าสุดประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียได้ตอบผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรัสเซียแล้วว่า “ไม่บุก” และกำลังทยอยถอนกำลังที่ซ้อมรบร่วมกับเบลารุส และทำให้ยูเครนที่ไม่สบายใจ หายใจออกได้มากขึ้นแล้ว ส่วนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2565 ที่สื่อตะวันตกอ้างข่าวกรองของสหรัฐอเมริกาว่ารัสเซียจะบุกยูเครนก็ผ่านไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ทุกฝ่ายน่าจะสบายใจ แต่ก็ยังไม่เป็นตามนั้น เพราะสหรัฐอเมริกา และคู่หูคือสหราชอาณาจักร รวมทั้งเลขาธิการเนโต ตอบว่า…. “ยังไม่เชื่อ” สรุปคือยังเชื่อว่ารัสเซียพร้อมบุก พร้อมกับมีหลักฐานประกอบจากภาพถ่ายดาวเทียมจากฝั่งสหรัฐอเมริกาอีกแล้วว่า รัสเซียไม่ได้ทยอยถอนทหาร แต่กลับเพิ่มเข้าไปอีก ซึ่งทำให้ตอนนี้ คนติดตามข่าวต่างประเทศอย่างเรา ๆ งงไปหมดว่าจะเชื่อฝ่ายไหนดี คำว่า information operation, misinformation และ fake news หลั่งไหลเข้ามากระแทกความคิดทันที
สิ่งที่กระแทกความคิดอีกก็คือ ข่าวที่รัสเซียใช้ปฏิบัติการทางไซเบอร์ โจมตีเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับระบบโครงสร้างพื้นฐานของยูเครนมาต่อเนื่องเช่นกัน ข่าวนี้จริงหรือปลอม ไม่ทราบได้ แต่ยูเครนออกมาพูดแล้วว่า รัสเซียทำจริง และเคยทำแบบนี้กับยูเครนเมื่อครั้งจะผนวกไครเมียด้วย แถม ๆ ข้อมูลเพิ่มอีกด้วยว่าหน่วยข่าวรัสเซียอาจอยู่เบื้องหลัง แต่รัสเซียหรือจะยอมอยู่เฉย ๆ โดยบอกว่า หากถูกโจมตีทางไซเบอร์กลับ หรือถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกาหรือพันธมิตรที่ช่วยยูเครน ก็พร้อมเพิ่มการปฏิบัติการไซเบอร์ต่อสหรัฐอเมริกากับประเทศตะวันตกเช่นกัน
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปนี้ ไม่ใช่ fake news แน่นอน คือ เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2565 สภาผู้แทนราษฎรของรัสเซีย หรือที่เรียกกันว่าสภาดูมาเห็นชอบอย่างท่วมท้นในร่างกฎหมายให้รัสเซียรับรองอธิปไตยและเอกราชเขตปกครองตนเองโดเนตสค์ (Donetsk People’s Republic-DPR) และเขตปกครองตนเองลูฮานสค์ (Luhansk People’s Republic-LPR) ในภูมิภาคดอนบาส ซึ่งอยู่ภาคตะวันออกของยูเครน ให้เป็นเอกราชจากยูเครน ซึ่งทั้งสองดินแดนนี้ ยูเครนพยายามกวาดล้างมาโดยตลอด และก็ที่รู้ ๆ กันรัสเซียอีกนั่นแหละที่สนับสนุนกลุ่มที่แบ่งแยกดินแดนพวกนี้
ยูเครนต้องเป็นฝ่ายตัดสินใจ…. ตามที่เขียนหัวเรื่องไว้ ก็อยู่ตรงประเด็นว่า ประธานาธิบดีปูตินจะลงนามร่างกฎหมายนี้นะ หากยูเครนยืนยันจะเป็นสมาชิกเนโต ซึ่งยูเครนต้องรับศึกหนักจากรัสเซียที่จะค่อย ๆ ดึงสองเขตการปกครองนี้ออกจากยูเครน ซึ่งเท่ากับว่าดินแดนที่เคยเป็นของยูเครน (แม้จะเป็นเขตปกครองตนเอง) จะถูกรัสเซียครอบครองเพิ่มอีก หลังจากที่ไครเมียก็โดนไปแล้ว แต่หากยูเครนไม่กล้าเสี่ยงกับรัสเซียที่ใช้ประเด็นนี้ เดี่ยวก็น่าจะมีการส่งสัญญาณไปยังประเทศยุโรปว่าให้ไปบอกกับรัสเซียว่า มาทำข้อตกลงกันหลาย ๆ ฝ่ายดีไหม ซึ่งหากออกมาแนว ๆ นี้และหันมาคุยกัน ก็น่าจะดีในแง่ที่ว่าความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครนน่าจะลดลง และทำให้สายต่างประเทศอย่างเรา ๆ ไปติดตามเรื่องอื่นดีกว่า
แต่ทิ้งทายไว้ก่อนว่า อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ เพราะข้อมูลที่ออกมาให้เรารับรู้ และวิเคราะห์กันนั้น เป็น information operation, misinformation และ fake News มากกว่า fact นอกจากนี้ การที่นาง Kamala Harris รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่จะพบกับผู้นำยูเครน และผู้นำยุโรปอีกหลายคนในการประชุมความมั่นคง หรือที่เรียกว่า Munich Security Conference ที่เยอรมนีในสุดสัปดาห์นี้ แน่นอนต้องมีการคุยกันเรื่องรัสเซีย-ยูเครน ไม่รู้จะทำอะไรให้ประธานาธิบดีปูตินไม่พอใจอีกหรือไม่…. อะไรจะเกิดขึ้นอีก ก็ไม่รู้
——————————–