ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) เผยให้เห็นถึงแนวโน้มขาขึ้นอีกครั้ง เมื่อนักลงทุนในต่างประเทศแสดงความตระหนักถึงอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นไปถึง 7.5% สูงสุดในรอบ 40 ปี จนคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) วางแผนที่จะเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในการประชุมเดือนมีนาคม 2565 ทำให้เงินทุนปริมาณมหาศาลเริ่มไหลออกจากตลาดสหรัฐฯ และทยอยเข้าสู่ตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกแทน โดยเฉพาะหุ้นไทย ซึ่งมีสัญญาณฟื้นตัวในกลุ่มหุ้นคุณค่า (value stock) เช่น อุตสาหกรรมธนาคาร และพลังงาน ที่เผยออกมาให้เห็นบ้างแล้ว ดัชนี SET Index จึงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายมกราคม-กลางกุมภาพันธ์ จากอานิสงค์ด้านเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติกว่า 20,000,000,000 บาท เข้ามาช่วยผลักดันมูลค่า โดยคาดหวังจะใช้ตลาดหุ้นไทยเป็นเครื่องมือป้องกันผลกระทบจากเงินเฟ้อที่กำลังขยายตัวในระยะนี้ ดัชนี SET Index จึงสามารถทะลุแนวต้านตามเส้นสีแดง (ภาพที่ 1) ขึ้นมาปิดเหนือ 1,680 จุด พร้อมการย่อเพื่อยืนยันการสร้างฐานราคาที่บริเวณดังกล่าวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี
หากกล่าวในมิติการวิเคราะห์เทคนิคัล ลักษณะการเคลื่อนที่ของกราฟ SET Index ในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นว่าตลาดหุ้นไทยได้หลุดออกจากกรอบสามเหลี่ยมสัญญาณกลับตัวขาลง (rising wedge) มาได้แล้วเมื่อช่วงปลายปี 2021 และยังสามารถพยุงราคาและแรงซื้อให้อยู่ในช่วงขาขึ้นต่อไปได้ โดยราคาไม่ได้หลุดลงไปต่ำกว่า 1,560 จุด แม้ว่าในช่วงมกราคม 2565 ที่ผ่านมาจะมีแรงเทขายในตลาดอย่างรุนแรง เพราะ SET Index ไม่สามารถผ่านแนวต้านที่บริเวณ 1,680 จุดได้ จนราคาหลุดลงมาต่ำกว่า 1,645 จุด แต่ก็มีแรงซื้อจำนวนมหาศาลเข้าช้อนซื้อไว้ในทันทีที่ SET Index ลงไปสัมผัสแนวรับในโซน 1,620 จุด ทำให้มุมมองในปัจจุบัน นักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่า SET Index กำลังพยายามปรับตัวขึ้นไปทดสอบแนวต้านบริเวณ 1,725 และ 1,750 จุด ที่เคยเป็นจุดยอด (previous high) จากเมื่อช่วงปี 2562 หาก SET Index ต้องการรักษาอารมณ์ความเป็นขาขึ้นในตลาดต่อไป ไม่ควรหลุดลงมาต่ำกว่าบริเวณ 1,645 และ 1,620 จุด เพราะจะส่งผลทางจิตวิทยาและภาพรวมการเคลื่อนไหวของกราฟราคาได้ และในกรณีที่ SET Index ไม่สามารถผ่านแนวต้านที่ 1,725 จุดได้ ภายในปลายกุมภาพันธ์ อาจย่อลงมาที่บริเวณ 1,700 จุดในต้นเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นแนวรับโซนแรก และตามด้วยโซน 1,680 จุด
นอกจากนี้ เมื่อประเมินจากกราฟวัดความหนาแน่นของแรงซื้อ-แรงขาย (RSI) จะเห็นว่ารูปแบบการขยับตัวของกราฟ RSI ยังคงมีลักษณะที่สะท้อนถึงความเป็นตลาดขาขึ้นอยู่โดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ช่วงธันวาคมปีที่ผ่านมา กราฟยังเคลื่อนที่ตามกรอบสีฟ้า (ตามภาพที่ 2) อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันด้วยแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มเข้ามา ทำให้กราฟ RSI กำลังพยายามจะขึ้นไปอยู่เหนือบริเวณค่า 65 เพื่อกลับไปทดสอบโซนค่า 70 ที่เคยขึ้นไปชนเมื่อต้นเดือนแต่ไม่สามารถทะลุออกไปได้ หากในช่วงปลายกุมภาพันธ์ กราฟค่า RSI ของ SET Index ยังไม่สามารถกลับขึ้นไปอยู่เหนือบริเวณค่า 65 อาจมีแรงขายเสริมเข้ามา จนกราฟ RSI ย่อลงไปสัมผัสที่ค่า 50 ซึ่งเป็นแนวรับสำคัญของช่วงตลาดขาขึ้น ก่อนสร้างจุดกลับตัว เพื่อขึ้นต่อในช่วงเดือนมีนาคมได้ โดยที่ยังไม่มีสัญญาณการเข้าสู่ตลาดขาลงเกิดขึ้นบนกราฟค่า RSI จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ SET Index จะยังคงรักษาระดับการเคลื่อนที่ของราคาขาขึ้นนี้ต่อไปได้จนถึงมีนาคม หากกราฟค่า RSI สามารถปิดในจุดที่อยู่เหนือกว่าค่า 70-72 ช่วงปลายกุมภาพันธ์ได้
โดยสรุป ปัจจุบันอาจยังไม่ใช่จุดเข้าซื้อที่ดี เนื่องจากโอกาสที่ SET Index จะไม่สามารถทะลุผ่านแนวต้านบริเวณ 1,725 จุดได้ในครั้งแรกที่สัมผัสมีค่อนข้างสูง ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่จะทำกำไรในระยะดังกล่าวนี้มีค่อนข้างจำกัด หรือคิดเป็นเพียงประมาณ 1% จากจุดเข้าซื้อบริเวณ 1,700 จุดเท่านั้น ผู้ที่ต้องการเข้าช้อนซื้ออาจรอให้ SET Index ย่อลงมาที่บริเวณ 1,680 หรือ 1,645 จุด ซึ่งเป็นจุดที่มีแนวโน้มจะเป็นฐานรองรับกราฟราคา SET Index ในอนาคตได้ ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นหลัก คือ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดสินทรัพย์เสี่ยงเช่น หุ้น หากมีสงครามเกิดขึ้นจริง นักลงทุนในตลาดอาจย้ายเงินจากตลาดหลักทรัพย์ไปไว้ที่สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ หรือ ทรัพย์สินความเสี่ยงน้อยรูปแบบอื่นๆแทนได้
***บทความนี้เป็นบทความสรุปความเคลื่อนไหวของตลาดเงินและตลาดทุนฯลฯ ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน The Intelligence มีข้อพิจารณาว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ก่อนตัดสินใจลงทุน***