ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดรัสเซีย-ยูเครน เราได้เห็นความพยายามของผู้นำในยุโรปที่แสดงบทบาทเป็น “ตัวกลาง” ในการไกล่เกลี่ยปัญหา เพราะฝ่ายที่ดูเหมือนว่าพูดคุยด้วยยาก เนื่องจากเก็บงำความรู้สึกนึกคิดในเรื่องนี้ได้ดีเหลือเกิน ก็คือ “ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน” ของรัสเซีย ที่นอกจากจะย้ำซ้ำ ๆ ว่าไม่มีแผนการจะบุกรุกยูเครน และยืนยันความต้องการให้เนโตยืนยันว่าจะไม่รับยูเครนเป็นสมาชิกใหม่แล้ว ประธานาธิบดีปูตินก็ยังมีท่าทีที่สงบเยือกเย็น จึงทำให้ผู้นำประเทศอื่น ๆ ต้องเข้าหาเพื่อทำความเข้าใจและหาข้อตกลงร่วมกันให้ได้
กรณีที่เป็นข่าวใหญ่เมื่อต้นกุมภาพันธ์ 2565 คือ ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศสเดินทางไปหารือแบบตัวต่อตัวกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินที่มอสโกเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2565 จนได้ผลลัพธ์ออกมาบอกกับประชาคมระหว่างประเทศว่า “ประธานาธิบดีปูตินให้คำมั่นว่าจะไม่คงกำลังทหารไว้ใกล้ยูเครน และจะถอนทหารออกจากเบลารุสทันทีที่เสร็จสิ้นการฝึกร่วม” นั้น ทำให้สื่อต่างประเทศมองว่า ประธานาธิบดีมาครงอาจกลายเป็นผู้ดำเนินบทบาท “Putin whisperer” หรือผู้ที่จะพูดคุยกับประธานาธิบดีรัสเซียได้อย่างราบรื่น แทนนางแองเคลา เมเคิล ที่ยุติบทบาทในฐานะผู้นำเยอรมนีไปเมื่อปลายปี 2564
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าฝ่ายรัสเซียจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ประธานาธิบดีมาครงประกาศ โดยโฆษกทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียออกมาปฏิเสธแทบจะทันทีว่า ประธานาธิบดีปูตินไม่ได้ให้คำมั่นว่าจะไม่คงกำลังทหารและยุทโธปกรณ์ไว้ใกล้ยูเครน และไม่ได้ให้สัญญาว่าจะถอนทหารออกจากเบลารุสด้วย
บทบาทของประธานาธิบดีมาครงทำให้เราสนใจขึ้นมาว่า นอกจากฝรั่งเศส และเยอรมนี 2 มหาอำนาจในยุโรปแล้ว จะพอมีผู้นำคนไหนในยุโรปที่พูดคุยและหารือกับประธานาธิบดีปูตินได้อีกบ้าง? ในที่สุด…เราก็พบว่า หนึ่งในผู้นำที่ได้รับการยอมรับว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำรัสเซีย จนได้รับฉายาว่า “Putin whisperer” มาอย่างยาวนาน คือ ประธานาธิบดี Sauli Niinisto ของฟินแลนด์ วัย 73 ปีที่ครองตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2555 และมีบันทึกว่าเป็นผู้นำที่ได้หารือกับประธานาธิบดีปูตินบ่อยครั้งที่สุดคนหนึ่ง ทั้งผ่านการโทรศัพท์ การประชุม และการเล่นกีฬาฮ๊อกกี้น้ำแข็งด้วยกัน จนมักจะได้รับบทเป็น “ตัวกลาง” ที่สื่อสารระหว่างรัสเซียกับประเทศตะวันตก อาทิเช่นที่เคยจัดให้ประธานาธิบดีปูตินพบหารือกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ที่เฮลซิงกิ เมื่อปี 2561 และเป็นผู้มีบทบาทไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับเยอรมนีในเหตุการณ์รัสเซียลอบวางยาพิษนาย Alexei Navalny ฝ่ายค้านของรัสเซียระหว่างอยู่ในเยอรมนีด้วย
การที่ประธานาธิบดี Niinisto ของประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกแห่งนี้สามารถหารือกับประธานาธิบดีปูตินได้ อาจเป็นเพราะที่ผ่านมา ฟินแลนด์ดำเนินนโยบายต่อรัสเซียที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านอย่าง Pragmatic หรือ “ประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์” มากที่สุด ทั้งนี้ในปัจจุบัน ฟินแลนด์ไม่ได้ดำเนินนโยบาย Finlandisation อีกต่อไป (Finlandisation คือลักษณะการดำเนินนโยบายโอนอ่อนผ่อนตามของประเทศเล็ก ๆ เพื่อรับมือกับประเทศที่มีอำนาจมากกว่า ซึ่งฟินแลนด์เคยใช้นโยบายแบบนี้เพื่อเอาตัวรอดหลังจากแพ้สงครามให้อดีตสหภาพโซเวียดเมื่อทศวรรษ 1939 และ 1944 ทำให้ต้องเสียดินแดนให้สหภาพโซเวียต) แต่ฟินแลนด์เลือกดำเนินนโยบายเป็นมิตรและเจรจาอย่างเปิดเผยกับรัสเซีย ควบคู่กับเป็นมิตรกับประเทศตะวันตก รวมทั้งเนโต ขณะเดียวกัน ฟินแลนด์มีความชัดเจนว่าไม่ได้ต้องการเป็นสมาชิกเนโต เพราะรัฐบาลและชาวฟินแลนด์พึงพอใจกับ “สถานะ” ในปัจจุบัน
การแสดงบทบาทของผู้นำฟินแลนด์ นอกจากจะทำให้ประชาชนพอใจ ประเทศปลอดภัย และยังได้รับการสนับสนุนจากนานาประเทศ รวมทั้งมีโอกาสประสบความสำเร็จในการเป็น “ตัวกลางไกล่เกลี่ยปัญหา” เพราะถือว่าเป็นผู้นำที่เข้าใจประธานาธิบดีปูตินมากที่สุดคนหนึ่ง …ดังนั้น ท่าทีของประธานาธิบดี Niinisto ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าทีล่าสุดเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “ท่าทีของประธานาธิบดีปูตินตอนนี้ค่อนข้างเด็ดขาดและแน่วแน่อย่างมาก” และเขาคิดว่า รัสเซียพร้อมจะรับมือกับผลลัพธ์ที่จะตามมาจากการดำเนินนโยบายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองด้วย!!
…นี่อาจเป็นการเตือนประเทศตะวันตกและยูเครนเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของรัสเซีย จากผู้ที่ได้รับฉายาว่า “Putin whisperer” ซึ่งเคยคาดเดาใจประธานาธิบดีปูตินว่า …ท้ายที่สุดแล้ว นี่คือเรื่องระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่รัสเซียต้องการเอาชนะยูเครนด้วยข้อตกลงมินส์ (Minsk agreement) โดยไม่สนใจว่าเนโตหรือสหภาพยุโรปจะโวยวายอย่างไร เพราะท้ายที่สุด ข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้รัสเซียยังขยายอิทธิพลในดินแดนดอนบาสในภาคตะวันออกของยูเครนได้ต่อไป
——————————————