สถานการณ์ความตึงเครียดในยุโรปจากกรณีรัสเซีย-ยูเครนมีแนวโน้มจะยืดเยื้อไปจนถึงปลายกุมภาพันธ์ 2565 เนื่องจากการเจรจาการทูตทั้งในกรอบทวิภาคี (bilateral) และพหุภาคี (multilateral) ยังไม่บรรลุผลเป็นข้อตกลงหรือทางออกจากปัญหาดังกล่าว ที่หลายฝ่ายวิตกว่ารัสเซียจะใช้ปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครน เหมือนเมื่อปี 2557 ที่เสมือนเป็น “ภาพจำ” ที่ทำให้การเคลื่อนไหวทางการทหารของรัสเซียน่าหวาดระแวงสำหรับประเทศตะวันตกหลายประเทศ
หนึ่งในกลุ่มประเทศที่ติดตามสถานการณ์ในยูเครนอย่างใกล้ชิด คือ กลุ่ม “Transatlantic Quad” ซึ่งรวมกัน 4 ประเทศ คือ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ที่เพิ่งจัดการหารือ 4 ฝ่ายพร้อมกันในประเด็นยูเครนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2565 โดยผู้เข้าร่วมเป็นระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สำหรับผลการหารือดังกล่าวก็เป็นการย้ำว่า สหรัฐฯ ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร จะร่วมมือกันตอบโต้รัสเซียหากใช้กำลังทหารรุกรานยูเครน และจะร่วมกันปกป้องอธิปไตยของยูเครน รวมทั้งความมั่นคงของยุโรป
การประชุมของกลุ่ม Transatlantic Quad นี้มีขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ตั้งแต่มีสถานการณ์ยูเครน ส่วนการหารือครั้งแรกจัดไปแล้วเมื่อ 20 มกราคม 2565 ที่เยอรมนี เน้นประเด็นใช้การทูตเป็นช่องทางหารือและป้องกันไม่ให้รัสเซียแสดงพฤติกรรมแข็งกร้าวต่อยูเครน กับเตรียมใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย
ความร่วมมือและท่าทีของกลุ่ม Transatlantic Quad อาจอธิบายได้ด้วยหลักการ “ความมั่นคงร่วม” หรือ Collective Security ที่ว่า รัฐต่าง ๆ จะรวมตัวกันเพื่อปกป้องบูรณภาพซึ่งกันและกัน รักษาความมั่นคงหรือยับยั้งฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบพันธมิตร (alliance) แนวร่วม (alignment) หรือพันธมิตรทางการทหาร (coalition)..ซึ่งสมาชิกกลุ่ม Transatlantic Quad มีความท้าทายด้านความมั่นคงร่วมกัน ได้แก่ รัสเซีย โดยเป็นผลจากประวัติศาสตร์ยาวนานของยุโรปและประสบการณ์ในช่วงสงครามเย็น ที่ทำให้รัสเซียเป็นฝ่ายตรงข้ามที่ไม่น่าไว้วางใจสำหรับประเทศยุโรปตะวันตกหลายประเทศ แม้จะมีความร่วมมือด้านการทูต เศรษฐกิจ และการปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย แต่การพัฒนาด้านการทหาร การขยายอิทธิพล และปฏิบัติการข่าวกรองของรัสเซียยังถือว่าเป็นความท้าทายด้านความมั่นคงของประเทศยุโรปมาโดยตลอด โดยเฉพาะเมื่อสหราชอาณาจักรจับได้ว่ารัสเซียส่งสายลับเข้าไปปฏิบัติการเพื่อจารกรรมข้อมูลและสร้างอิทธิพลทางความคิดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ท่าทีของสหราชอาณาจักรต่อรัสเซียในปัจจุบันออกมาในรูปแบบแข็งกร้าวมากขึ้น
แม้ความเคลื่อนไหวของกลุ่ม Transatlantic Quad อาจสร้างความอุ่นใจให้ยูเครนและประเทศในยุโรปตะวันออกว่า มหาอำนาจในยุโรปและสหรัฐฯ พร้อมจะตอบโต้รัสเซีย ไม่ว่าจะด้วยการส่งกำลังมาปกป้อง หรือคว่ำบาตรเพื่อตัดช่องทางการเงินของรัสเซีย หากดำเนินการที่เป็นภัยคุกคามต่อประเทศอื่น ๆ แต่ในมุมมองของรัสเซีย ท่าทีของทั้ง 4 ประเทศอาจเป็นการยั่วยุและทำให้สถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจมากขึ้น
….ไม่ว่าจะในมุมไหน เรามีข้อสังเกตว่า กลุ่ม Transatlantic Quad อาจจะกำลังแบ่งงานกันทำ ใช้เทคนิคทางจิตวิทยา Good cop/Bad cop ในการจัดการกับรัสเซีย โดยให้ฝรั่งเศสกับเยอรมนีเป็น Good cop ที่เน้นเจรจากับรัสเซีย และแน่นอน สหรัฐฯ กับสหราชอาณาจักรสวมบท Bad cop ที่ข่มขู่ กล่าวโทษ ต่อว่ารัสเซียอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้รัสเซียเปิดเผยข้อมูลสำคัญและความมุ่งหมายที่แท้จริง หรือเปิดเผยจุดอ่อน (หากเป็นไปได้) กับ Good cop ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอื่น ๆ ในการดำเนินนโยบายกับรัสเซียต่อไป
————————————————