ณ วินาทีนี้คงไม่มีเรื่องราวต่างประเทศไหนจะร้อนแรงไปกว่าการเปิดปฏิบัติการทางการทหารของรัสเซียในยูเครน ที่ตึงเครียดกันตามแนวพรมแดนมาเป็นเวลาเดือนกว่า ๆ แล้ว กลายเป็นวาทกรรมและการต่อสู้ทางข้อมูลข่าวสารไปมาตลอดเดือนที่ผ่านมา
โดยเฉพาะการเดินทางเยือนของหลายผู้นำชาติยุโรปเพื่อหาทางออกอย่างสันติให้กับวิกฤตในครั้งนี้ อันมีต้นสายปลายเหตุสำคัญมาจากความพยายามเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ เนโต
ทั้งนี้รัสเซียมองว่าการกระทำดังกล่าวหากปล่อยให้เกิดขึ้นจะกลายเป็นภัยคุกคามทางความมั่นคงอย่างยิ่งต่อรัสเซีย เปรียบเสมือนรัสเซียกำลังถูกปิดล้อมทางการทหารจากประเทศสมาชิกในกลุ่มเนโตเหล่านี้ ที่นับวันจะขยายตัวมากยิ่งขึ้น
แน่นอนว่าภายใต้สถานการณ์ความตึงเครียดเช่นนี้ รวมถึงการเปิดปฏิบัติการทางการทหารในยูเครนของรัสเซีย จึงก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ไปจนถึงการออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของหลายประเทศ ทั้งในยุโรป รวมถึงสหรัฐอเมริกา
ในขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ตัดสินใจอยู่ห่างจากวิกฤตนี้ หรือวางตัวนิ่งเฉยต่อการกระทำของรัสเซีย เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเองเอาไว้ หนึ่งในประเทศเหล่านั้นที่ดูเหมือนจะแสดงท่าทีเป็นกลางแบบนี้นั้น รวมถึงประเทศอินเดียด้วย
น่าสนใจว่าตลอดวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ผ่านมา อินเดียค่อนข้างมีท่าทีนิ่งเงียบอย่างยิ่ง และเลือกที่จะไม่วิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ ต่อกรณีดังกล่าวมากนั้น แม้แต่ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ อินเดียแสดงท่าทีเพียงมุ่งหวังให้ทุกฝ่ายพูดคุยกัน และใช้ช่องทางการทูตเป็นสำคัญในการแก้ไขปัญหา
ความเคลื่อนไหวที่ดูจะเห็นชัดเจนที่สุดของอินเดียในกรณีนี้ ดูเหมือนจะเป็นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมาภายหลังรัสเซียเปิดปฏิบัติการในยูเครน โดยนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดียตัดสินใจต่อสายตรงกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตามเมื่ออ่านในเนื้อหารายละเอียดการสนทนาระหว่าง 2 ผู้นำ กลับแทบไม่พบการวิจารณ์รัสเซียของอินเดียเลย มากที่สุดเพียงเรียกร้องให้รัสเซียยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น แล้วหันกลับมาใช้ช่องทางการทูตในการแก้ไขปัญหา
ยิ่งไปกว่านั้นโดยส่วนใหญ่การสนทนาจะมุ่งเน้นไปที่การรักษาผลประโยชน์ของประชาชนอินเดียที่อยู่ในยูเครนด้วยซ้ำ โดยเฉพาะการอพยพคนอินเดียออกจากยูเครนอย่างปลอดภัย สิ่งเหล่านี้ยังสะท้อนผ่านการประชุมคณะรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงของอินเดียที่จัดขึ้นต่อจากนั้นเพื่อวางแผนช่วยเหลือคนอินเดียออกจากยูเครน
ท่าทีของอินเดียที่ค่อนข้างนิ่งเฉยนี้ไม่ใช่รู้สึกได้จากสายตาคนนอกเท่านั้น แม้กระทั่งยูเครนเองยังเรียกร้องให้อินเดียแสดงบทบาทและท่าทีมากกว่านี้ โดยทั้งประธานาธิบดีของยูเครนและเอกอัครราชทูตยูเครนประจำอินเดีย ต่างเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีโมดี เจรจากับรัสเซียเพื่อหาทางออกของปัญหานี้อย่างสันติ แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่อินเดียทำก็ไม่ได้ช่วยอะไรได้มากนัก
ซึ่งหากเราย้อนดูภูมิหลังทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ต้องบอกว่ารัสเซียถือเป็นพันธมิตรที่สำคัญชาติหนึ่งของอินเดียนับตั้งแต่สงครามเย็น สองประเทศนี้ใกล้ชิดและแน่นแฟ้นกันทั้งทางการทูตและการทหาร ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่อินเดียจะสงวนท่าทีของตัวเองต่อเรื่องนี้
ในทางตรงกันข้ามดูเหมือนความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับยูเครนจะไม่ค่อยราบรื่นเท่าใดนัก โดยเฉพาะในช่วงปี 2541 ที่อินเดียทดลองอาวุธนิวเคลียร์ ยูเครนถือเป็นหนึ่งในชาติที่เป็นหัวหอกสำคัญในการประณามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของอินเดียในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมายูเครนถือเป็นชาติที่สำคัญที่ขายอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากให้กับปากีสถาน ทั้งที่อินเดียพยายามคัดค้านมาตลอดเวลา
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าในส่วนลึก ๆ แล้ว อินเดียเองก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีเท่าใดนักกับยูเครน อีกทั้ง การกระทำของยูเครนในช่วงที่ผ่านมาเฉพาะอย่างยิ่งการขายอาวุธจำนวนมาก โดยเฉพาะรถถังให้กับปากีสถานนั้น กลับเป็นภัยคุกคามทางความมั่นคงของอินเดียด้วยซ้ำ
ฉะนั้นหากมองในมิติต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ก็พอจะทำความเข้าใจได้ว่าทำไมท่าทีของอินเดียที่มีต่อกรณีวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนถึงออกมาในรูปที่วางตัวเป็นกลาง หรือนิ่งเฉยต่อกรณีที่เกิดขึ้น
ผู้เขียน
ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
กำลังศึกษาปริญญาเอกที่คณะการจัดการ และทำงานเป็นนักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแถบและเส้นทาง มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน สนใจประเด็นการต่างประเทศ การเมือง และพลังงานในภูมิภาคเอเชียใต้และจีน