นับตั้งแต่เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน จนนำมาซึ่งการยกกำลังทางทหารจำนวนมากเข้าไปในยูเครนของรัสเซีย แต่ละประเทศต่างมีท่าทีต่อกรณีดังกล่าวที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะการประณามการกระทำของรัสเซีย ที่จนถึงวันนี้หลายประเทศใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญยังคงเลือกที่จะงดออกเสียง โดยเฉพาะจีน และอินเดีย
อินเดียถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เนื่องจากถูกคาดหวังอย่างมากจากนานาชาติว่าจะแสดงบทบาทต่อเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะชาติตะวันตกที่ต้องการให้อินเดียมีจุดยืนกับเรื่องนี้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตามตลอดการลงมติในเวทีสหประชาชาติ ทั้งในคณะมนตรีความมั่นคง และสมัชชาใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการประณามหรือกดดันให้รัสเซียถอนทหารออกจากยูเครนนั้น อินเดียกลับตัดสินใจโหวต “งดออกเสียง” ทุกครั้ง จนหลายฝ่ายมองว่าอินเดียนั้นอาจเลือกข้างรัสเซียไปแล้ว
ความลังเลที่จะตัดสินใจประณามหรือโจมตีรัสเซียอย่างตรงไปตรงมาของอินเดียนี้ ยังส่งผลอย่างมากต่อกลุ่ม QUAD ( Quadrilateral Security Dialogue 4 ชาติ ได้แก่ สหรัฐ ฯ ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น) ที่เพิ่งประชุมเกี่ยวกับวิกฤตยูเครนไป ซึ่งด้วยความไม่สบายใจของอินเดียส่งผลให้การประชุมดังกล่าวไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อประณามรัสเซียออกมาได้
ในจุดนี้ก็อาจต้องบอกว่าเป็นเรื่องยากสำหรับอินเดียเช่นเดียวกันในวิกฤตนี้ เห็นได้จัดจากถ้อยแถลงในเวทีสหประชาชาติของอินเดีย ที่ไม่กล่าวถึงประเทศใดเป็นการเฉพาะ และยังคงเน้นย้ำให้ทั้งโลกหาทางเพื่อให้เกิดการพูดคุยทางการทูตระหว่างรัสเซียและยูเครน อันเป็นการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด
ทั้งนี้อดีตนักการทูตและนักวิชาการด้านการต่างประเทศของอินเดียหลายคนมองว่าความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนนี้ ส่งผลให้อินเดียไม่มีทางเลือกที่ดีเลย (No good options) เพราะไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็มีแต่เสียมาก หรือเสียน้อยเท่านั้นเอง และการตัดสินใจ “งดออกเสียง” ก็มาจากเหตุปัจจัยเหล่านี้
แน่นอนว่าเหตุผลสำคัญที่อินเดียต้องพยายามในการรักษาสมดุลทางการทูตของตัวเองเหนือวิกฤตยูเครนนี้ เป็นผลมาจากสายสัมพันธ์ทางการทูตและการทหารที่ยาวนานระหว่างอินเดียและรัสเซีย เพราะในอดีตนั้นรัสเซียเคยใช้อำนาจ “วีโต้” ของตัวเองเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องแคชเมียร์ให้กับอินเดีย โดยผลักให้เรื่องนี้เป็นปัญหาระดับทวิภาคีแทน
และถ้าวิเคราะห์จากแนวนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของอินเดียที่มีมาแต่อดีตในลักษณะที่ไม่ต้องการฝักใฝ่ฝ่ายใด การกระทำนี้ของอินเดียก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หรือแหวกจากแนวนโยบายการทูตของอินเดียที่ใช้ปฏิบัติมาแต่เก่าก่อน
ที่สำคัญไปกว่านั้นต้องยอมรับประการหนึ่งว่ารัสเซียคือผู้จัดจําหน่ายอาวุธรายใหญ่ที่สุดของอินเดีย แม้ว่าปัจจุบันจำนวนสัดส่วนจะลดลงจากร้อยละ 70 มาอยู่ที่ร้อยละ 49 ก็ตาม ซึ่งเป็นผลสำคัญมาจากการที่อินเดียพยายามผลักดันอุตสาหกรรมกลาโหมในประเทศมากยิ่งขึ้น รวมถึงกระจายการพึ่งพิงอาวุธไปยังแหล่งอื่นมากขึ้น
แต่นั่นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัสเซียมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออินเดียในทางการทหารโดยเฉพาะการขาย S-400 ให้กับอินเดีย ซึ่งจะส่งผลให้อินเดียมีศักยภาพมากยิ่งขึ้นต่อการรับมือกับภัยคุกคามที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างปากีสถาน และจีน
ฉะนั้นด้วยความสำคัญทั้งทางการทูตและการทหารของรัสเซียที่มีต่ออินเดีย จึงเป็นเรื่องยากสำหรับอินเดียที่จะออกมาตรการตามที่ชาติตะวันตกคาดหวัง เพราะนั่นอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมด้านการต่างประเทศและความมั่นคงของอินเดียในระยะยาวได้
ด้วยเหตุนี้เองอินเดียจึงเลือกเส้นทางที่เสียน้อยที่สุดคือช่วยทุกฝ่าย ไม่เลือกข้างอย่างชัดเจน และพยายามพูดคุยกับทั้งสองฝ่าย และเรียกร้องให้มีการพูดคุยกันเพื่อแก้ไขปัญหามากกว่าที่จะใช้กำลังทางการทหาร และนี่ก็เป็นเพียงไม่กี่ทางเลือกที่อินเดียทำได้ในเวลานี้
ผู้เขียน
ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
กำลังศึกษาปริญญาเอกที่คณะการจัดการ และทำงานเป็นนักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแถบและเส้นทาง มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน สนใจประเด็นการต่างประเทศ การเมือง และพลังงานในภูมิภาคเอเชียใต้และจีน