ทองคำขาว หรือ Platinum (XPTUSD) นั้น อาจจะเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนในไทยกล่าวถึงกันน้อย เนื่องจากส่วนใหญ่มักให้ความสนใจกับทองคำและ Silver ซึ่งเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากกว่า แต่ด้วยความที่กราฟราคา Platinum นี้มีความสัมพันธ์ (correlation) กับกราฟราคาของทองคำเช่นเดียวกับ Silver และ Palladium การเทรดสินทรัพย์ประเภทโลหะ 4 ชนิดนี้ ไปพร้อมๆกัน จึงเป็นโอกาสหนึ่งของการเก็งกำไรในตลาด โดยภาพรวมปัจจุบันนั้น Platinum ได้ทะลุออกมาเคลื่อนที่เหนือกรอบสีดำที่เป็นแนวต้านในตลาดขาลงช่วงมีนาคม ปี 2564 ถึงมกราคม ปี 2565 แล้ว พร้อมกับการย่อเพื่อยืนยันฐานราคา (confirmed revisit) ไปแล้วเมื่อช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ถือว่ากำลังเป็นตลาดขาขึ้นอย่างชัดเจน แม้ว่าราคาของ Platinum จะยังไม่สามารถผ่านแนวต้านเส้นสีส้มบริเวณ $1,200.664 (ตามภาพที่ 1) จนราคาร่วงลงมาปิดแท่งสัปดาห์ที่บริเวณ $1,080 ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้เกิดการเสียรูปทรงของกราฟแต่อย่างใด เนื่องจากราคาไม่ได้หลุดออกจากกรอบแนวรับ-แนวต้านตลาดขาขึ้นที่ได้ก่อตัวขึ้นช่วงธันวาคมปี 2564 ที่ผ่านมา (higher low and high)
อนึ่ง สาเหตุที่ราคา Platinum ย่อลงมาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เป็นเพราะกราฟราคาได้พุ่งขึ้นไปสัมผัสแนวต้าน 2 ชนิดที่วางบรรจบกันในช่วงเวลาเดียวกัน (confluence zone) คือ แนวต้านเส้นสีดำบริเวณ $1,180 และแนวต้านเส้นสีส้มบริเวณ $1,200.664 ทำให้มีแรงเทขายเพื่อทำกำไรจากนักลงทุนออกมาจนราคาต้องย่อลงมาที่แนวรับเส้นสีดำ แต่ยังสามารถปิดแท่งโดยไม่ได้สัมผัสแนวรับได้ แนวโน้มที่ราคา Platinum จะยังสามารถขึ้นไปทดสอบแนวต้านเดิมที่ $1,200.664 ในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ จึงยังมีค่อนข้างสูง ส่วนปัจจัยที่ส่งเสริมมุมมองดังกล่าว คือ ลักษณะการเคลื่อนที่ของกราฟนั้นยังเป็นรูปแบบขึ้น-ลงอยู่ในกรอบที่แน่นอน โดยมีการปฏิเสธราคาของแท่งเทียนทุกครั้งที่กราฟเคลื่อนไปใกล้กับแนวรับ หรือแนวต้านตามกรอบ หาก Platinum ยังต้องการรักษามุมมองเชิงบวกในตลาดขาขึ้น ไม่ควรหลุดออกมานอกกรอบแนวทแยงกรอบเล็ก หรือหลุดลงมาเกินแนวรับเส้นสีม่วงบริเวณ $1,031.687 เพราะอาจส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกและมีแรงเทขายตามมา จนทำให้กราฟเข้าสู่สภาวะพักตัวในระยะสั้นได้
สำหรับมุมมองจากกราฟแสดงปริมาณแรงซื้อ-แรงขาย (RSI) จะเห็นว่าโมเมนตัมแรงขายของ Platinum นั้นเริ่มเบาลงตั้งแต่ช่วงกรกฎาคมปีที่ผ่านมาแล้ว และได้แทนที่ด้วยแรงซื้อที่มากขึ้นตั้งแต่ช่วงกันยายนจนเกิดเป็นกรอบแนวรับ-แนวต้านขาขึ้นบนกราฟ RSI ที่ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ระหว่างโซน 30 และ 60 มาจนถึงสิ้นปี (ตามภาพที่ 2) และยังมีแนวโน้มจะสามารถขึ้นต่อได้เรื่อยๆโดยที่ยังไม่มีสัญญาณการกลับตัวเข้าสู่ตลาดขาลง (bearish divergence) ในเดือนมีนาคมนี้ อีกทั้งกราฟ RSI ยังเคลื่อนที่ค่อนข้างสัมพันธ์กับกราฟแท่งเทียนราคาด้านบน การย่อในครั้งนี้จึงคาดการณ์ว่าเป็นเพียงการย่อจากการทดสอบแนวต้านแล้วไม่ผ่านเท่านั้น ซึ่งแนวรับหลักของกราฟ RSI ที่ไม่ควรหลุดลงไปจะอยู่บริเวณโซน 50 อีกความเป็นไปได้หนึ่งคือ หาก กราฟ RSI หลุดลงไปต่ำกว่า 50 หรือ บริเวณค่า 45 อาจส่งผลให้มุมมองของตลาดเปลี่ยนไป และส่งผลกระทบให้มีแรงขายปริมาณมากเข้ามาจนราคาและค่าเฉลี่ย RSI ดิ่งตามลงไปได้
***บทความนี้เป็นบทความสรุปความเคลื่อนไหวของตลาดเงินและตลาดทุนฯลฯ ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน The Intelligence มีข้อพิจารณาว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ก่อนตัดสินใจลงทุน***