ก่อนหน้านี้ช่วงที่เริ่มมีข่าวเชิงลบเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 นั้น ค่าเงินอีกหนึ่งสกุลที่ได้รับประโยชน์โดยตรง จากการที่นักลงทุนต่างชาติจำนวนมากขนย้ายเงินออกจากตลาดสหรัฐฯ และเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ คือ เงินบาทของไทย อีกทั้งตลาดหุ้นไทยนั้นยังมีหุ้นกลุ่มมูลค่า (value stock) อยู่หลายตัว ทำให้เม็ดเงินจากต่างประเทศไหลเข้าหาไทยโดยตรงตลอดเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ดังจะเห็นได้จากกราฟแท่งเทียนมูลค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐที่จับคู่สัมพันธ์กับเงินบาท (USDTHB) นั้นมีการปรับตัวดิ่งลงอย่างรุนแรงตลอดทั้งเดือน จากที่อยู่ในจุดสูงสุดเกือบ 33.7 บาท ในเดือนมกราคม 2565 ก็ร่วงลงมาจนเกือบหลุด 32 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ (ถือเป็นช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งมากที่สุดในรอบ 6 เดือน) แต่เมื่อสถานการณ์ความตื่นตระหนกในตลาดเริ่มทุเลาลงในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เงินจึงเริ่มไหลกลับเข้าสู่ตลาดของคู่เงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เงินบาทกลับเข้าสู่สถานะอ่อนตัวลง และค่อย ๆ รีบาวด์กลับขึ้นมาแตะแนวต้านบริเวณราคาเดิมที่ 33.165 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐแล้วในต้นเดือนมีนาคม 2565
จากมุมมองทางเทคนิคัล ปัจจุบันกราฟแสดงมูลค่าของเงินบาทนั้นกำลังอยู่ในช่วงอ่อนตัวลงจากการรีบาวด์ โดยสามารถผ่านแนวต้านเส้นสีฟ้า (ตามภาพที่ 1) ซึ่งเป็นแนวต้านสำคัญแนวแรกสำหรับการจะส่งเงินบาทกลับเข้าสู่ตลาดขาลงแล้ว โดยหากค่าเงินบาทสามารถคงความอ่อนตัวด้วยการยืนเหนือโซน 33.165 บาทและรักษาฐานอยู่บริเวณดังกล่าวได้ ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของมีนาคม 2565 เงินบาทมีโอกาสจะอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องและมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การขยับขึ้นไปทดสอบแนวต้านที่ราคา 33.55 บาท ซึ่งเป็นแนวต้านเดิมตามกรอบสามเหลี่ยมสีดำที่ค่อนข้างมีความแข็งแรง เนื่องจากมีสถานะเคยเป็นกำแพงกั้นราคาไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าลงไปจนทะลุเกิน 34 บาท มาตั้งแต่ปี 2564 ทั้งนี้ หากเงินบาทไม่สามารถรักษาฐานบริเวณโซนแนวเส้นทะแยงสีฟ้าและกลับเข้าไปเคลื่อนที่อยู่ในกรอบสามเหลี่ยมได้ ราคาอาจย่อลงมาที่บริเวณแนวรับเดิมระหว่าง 32.640-32.850 บาท แต่อาจไม่หลุดลงไปที่บริเวณ 32.2 บาทแล้วในเดือนนี้ เนื่องจากนักลงทุนในตลาดยังคงรอความชัดเจนจากการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC Meeting)
สำหรับมุมมองจากเครื่องมือประเมินแรงซื้อ-แรงขาย (RSI) ปัจจุบันนั้นกราฟค่า RSI ของสกุลเงินบาท สามารถทะลุออกมาจากแนวต้านกรอบสามเหลี่ยมที่เป็นปัจจัยจำกัดการเคลื่อนที่ของกราฟมาตลอดกว่า 3 ไตรมาส โดยที่ค่า RSI สามารถผ่านแนวต้าน 50 ได้แล้ว เป้าหมายถัดไปจึงเป็นการรักษาฐานของ RSI ให้อยู่ในระดับสูงกว่าโซน 50 เพื่อให้มีแรงซื้อตามเข้ามา และส่งเงินบาทให้อ่อนค่าลงไปถึง 34 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐภายในไตรมาส 2 เงื่อนไขดังกล่าวนี้จะสมบูรณ์มากขึ้น หากการย่อของกราฟครั้งถัดไป ไม่ย่อลงเกินโซนค่า 50 ก็จะสามารถส่งให้ค่า RSI สามารถเคลื่อนที่ต่อไปจนถึงโซน 70 ซึ่งเป็นแนวต้านทางจิตวิทยาถัดไป อย่างไรก็ดี การที่กราฟค่าเฉลี่ย RSI นั้นมีอัตราการเคลื่อนที่ที่แรงมากเกินไปโดยไม่สัมพันธ์กับรูปแบบการเคลื่อนไหวของแท่งเทียนบนกราฟราคาที่ปรับตัวขึ้นช้ากว่า (แรงซื้อมาก แต่ราคาไม่สัมพันธ์กับปริมาณแรงซื้อ) ส่งผลให้มีสัญญาณเตือนถึงทิศทางตลาดเกิดขึ้น (hidden bearish divergence) จนอาจทำให้นักลงทุนบางส่วนเชื่อว่าเงินบาทมีโอกาสจะพลิกกลับมาแข็งค่า และเทขายสินทรัพย์จนเงินบาทกลับลงมาที่แนวรับ 32.2 บาทอีกครั้งได้
***บทความนี้เป็นบทความสรุปความเคลื่อนไหวของตลาดเงินและตลาดทุนฯลฯ ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน The Intelligence มีข้อพิจารณาว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ก่อนตัดสินใจลงทุน***