ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ กับการเลือกตั้งผู้ว่าคนใหม่ของกรุงเทพมหานคร “เมืองโตเดี่ยว” แห่งประเทศไทย ที่แม้จะมีความเจริญและประชากรที่หนาแน่น เต็มไปด้วยระบบขนส่งสาธารณะและอาคารที่ทันสมัย แต่เมืองหลวงแห่งนี้ยังคงเต็มไปด้วยปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่หลากหลายจากทุกกลุ่ม ตั้งแต่นักเรียน…..ชนชั้นแรงงานและผู้บริหาร
หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดของกรุงเทพมหานครในช่วง 5-10 ปีมานี้ คือ การเกิดขึ้นของอาคารชุด หรือ คอนโดมิเนียม ที่เข้ามาเพื่อตอบสนองความต้องการที่อยู่อาศัยให้กับกลุ่มคนทุกประเภทตั้งแต่รายบุลคคลจนถึงครอบครัว โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งแม้จะอยู่ไกลจาก ศูนย์กลางเมือง (CBD) หรือย่านที่พักอาศัยเดิมก็ยังมีคอนโดมิเนียมผุดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
การเปลี่ยนแปลงจากตึกแถว 3 ชั้น เป็นตึกสูง 30 ชั้น นั่นหมายถึงจำนวผู้ใช้งานต่อพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ ส่งผลต่อความเพียงพอต่อสิ่งความอำนวยความสะดวก อุปโภค บริโภค (facility) ต่างๆ ที่ต้องรองรับกิจกรรมจากคอนโดมิเนียมเหล่านั้น ซึ่งเริ่มสะสมกลายเป็นปัญหาที่แก้ได้ยากยิ่งของเมือง โดยสามารถแบ่งออกมาได้ 4 ด้าน ได้แก่
- ทางสัญจรหรือถนน แม้คอนโดมิเนียมจะขึ้นอยู่ใกล้กับรถไฟฟ้าที่ช่วยรองรับคนไปยังพื้นที่ต่างๆ แต่ดูเหมือนว่าผู้ที่อยู่อาศัยในคอนโดจำนวนมากยังคงมีการใช้รถยนต์ส่วนตัว (คอนโดมิเนียมมีที่จอดรถ 1 คันต่อพื้นที่ 120 ตารางเมตรและห้องขนาด 60 ตารางเมตรขึ้นไป จะต้องมีที่จอดรถ 1 คันต่อ 1 ยูนิต) โดยมีเหตุผลถึงความไม่สะดวกในการเข้าถึงสถานที่ต่างๆด้วยรถไฟฟ้าและค่าบริการเมื่อเทียบกับการใช้รถไฟฟ้าไม่ต่างกันมากนัก
- ไฟฟ้า ชีวิตประจำวันของคนเมืองถูกอำนวยความสะดวกด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ตลอดเวลาทั้งตอนตื่นและตอนนอน การใช้ไฟฟ้าของกรุงเทพมหานครคิดเป็น 20.71% ของประเทศ ยิ่งผู้คนหนาแน่นการใช้ไฟฟ้าก็มากขึ้นด้วยเช่นกัน จำเป็นต้องมีการผลิตและจ่ายไฟไปยังอาคารสูงต่างๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการ
- น้ำประปาและน้ำเสีย การใช้น้ำที่มากขึ้นดึงทรัพยากรต่างๆ เข้าสู่เมือง แต่ปัจจุบัน จำนวนท่อที่ลำเลียงน้ำประปาเข้าสู่เมืองยังคงมีขนาดเท่าเดิมไม่แตกต่างไปจากก่อนที่พื้นที่จะถูกพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียม น้ำประปาหรือน้ำใช้อาจถูกทดแทนด้วยระบบสำรองน้ำ แต่สำหรับน้ำเสียที่ต้องเร่งระบายออกจากโครงการและมีการขั้นตอนการกำจัดที่ยุ่งยากกว่า หากขนาดท่อรับน้ำเสียจากคอนโดมิเนียมไม่เพียงพอ จะเกิดการล้นทะลักซึ่งนำไปสู่การกำจัดที่ไม่ถูกต้อง เกิดเป็นผลเสียต่อสุขภาวะของเมือง
- แหล่งอาหาร คอนโดมิเนียมคือที่สำหรับอยู่อาศัย ไม่เหมาะกับการประกอบอาหาร ผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่จำเป็นต้องหาร้านอาหารที่สามารถซื้อหาได้อย่างสะดวกและมีราคาถูก เพื่อที่จะเลี้ยงผู้คนเฉลี่ย 150 – 300 คนต่อโครงการ ดังนั้น จะต้องมีร้านอาหารอย่างน้อย 4 – 10 ร้าน เพื่อรองรับการบริโภคจากคนในคอนโดมิเนียม แต่ด้วยมูลค่าที่ดินที่สูงในย่านที่มีคอนโดมิเนียม การจะเกิดร้านอาหารราคาถูกก็เป็นไปได้ยากด้วยเช่นกัน ทำให้ทางเลือกของแหล่งอาหารที่ราคาย่อมเยาสำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมหายากขึ้นไปทุกที
นั่นคือปัญหาของการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกันทั้งระบบ ถนนที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดลำเลียงรถ ไฟฟ้า ประปา ยังคงมีขนาดและจำนวนไม่มากพอกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น แม้ความหนาแน่นตลอดเส้นทางจะเพิ่มขึ้น เกิดปัญหารถติด น้ำเสีย ไฟฟ้าดับ หรือพื้นที่ค้าขายอาหารที่ไม่เคยห่างหายไปจากสายตาคนเมือง เช่นประเด็นการตั้งหาบเร่แผงลอยบนทางเท้า เพื่อเป็นแหล่งอาหารราคาถูกให้กับผู้ที่อาศัยอยู่บนคอนโดมิเนียม ซึ่งแม้จะเป็นรูปแบบการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าของสังคม แต่การแก้ไขปัญหาในลักษณะดังกล่าวไม่สามารถสะท้อนออกมาให้เห็นในรูปแบบ “การวางแผนและพัฒนาเมือง” กรุงเทพมหานครยังคงก้าวตามหลังพฤติกรรมของคนในเมืองอยู่ตลอดเวลา คงจะดีไม่น้อยหากเปลี่ยนบทบาทจากผู้ไล่ตอบสนองความต้องการของคนเมืองมาเป็นผู้สร้างแนวทางการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ