ประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ( Intelligence Community- IC) เผยแพร่รายงานประเมินภัยคุกคามด้านความมั่นคงประจำปีของสหรัฐฯ (Annual Threat Assessment)เมื่อต้นมีนาคม 2565 เพื่อเสนอให้รัฐบาลและฝ่านนิติบัญญัติสหรัฐฯทราบเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงที่จะเป็นความท้าทายต่อผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ ตลอดปี 2565 การศึกษารายงานดังกล่าวทำให้เรารู้ว่า สหรัฐฯ กำลังสนใจเรื่องอะไร ขณะเดียวกัน เราก็ต้องคิดไว้ด้วยว่า ประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ อาจตั้งใจใช้รายงานฉบับนี้ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะชนและทั่วโลก shape ความคิดเห็นของผู้อ่านให้เห็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงในรูปแบบเดียวกันกับสหรัฐฯ ก็ได้ เพราะหากพันธมิตรและหุ้นส่วนของสหรัฐฯ เชื่อในสิ่งที่ IC บอกว่าสิ่งใดเป็นภัยคุกคาม ก็จะทำให้สหรัฐฯ ดำเนินยุทธศาสตร์และปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติได้ง่ายขึ้น หรือจะเรียกได้ว่า สหรัฐฯ กำลังใช้รายงานฉบับนี้สร้างภัยคุกคามร่วม เพื่อใช้ประโยชน์ในการขอความร่วมมือต่อไป
สำหรับเนื้อหาของรายงานฉบับดังกล่าว มีหลายประเด็นที่ไม่น่าแปลกใจ เช่น IC กล่าวถึงจีนเป็นภัยคุกคามแรกในรายงานดังกล่าว (ไม่น่าแปลกใจเพราะหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ เพิ่งตั้งหน่วยเพื่อรับผิดชอบเรื่องจีนโดยเฉพาะเมื่อปี 2564 แม้ว่านั่นจะไม่ได้หมายถึงว่าจีนเป็นภัยคุกคามอันดับ 1 ของสหรัฐฯ แต่เมื่อดูสัดส่วนเนื้อหาของรายงาน “จีน” และพฤติกรรมของรัฐบาลจีนในมิติต่าง ๆ ดูเหมือนว่าจะได้รับการจัดให้เป็นความท้าทายของสหรัฐฯ สำหรับสิ่งที่สหรัฐฯ ห่วงกังวล คือ นโยบายต่างประเทศต่อไต้หวันและทะเลจีนใต้ การทหาร การใช้โครงการ Belt and Road Initiative เพื่อขยายอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจของจีน การแข่งขันกับสหรัฐฯ ในอวกาศและไซเบอร์ รวมไปถึงการใช้ปฏิบัติการข่าวสารเกี่ยวกับ Covid-19
อีกเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ คือ พฤติกรรมของรัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ ได้รับการระบุว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ ไม่น้อยไปกว่าจีน โดยรัสเซียมีพฤติกรรมที่น่าห่วงกังวล ได้แก่ รัสเซียจะใช้กำลังทหารโจมตียูเครน รัสเซียจะใช้ปฏิบัติการทหารในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งไซเบอร์ เพื่อแข่งขันอิทธิพลกับสหรัฐฯ นอกจากนี้ รัสเซียจะใช้ความมั่นคงทางพลังงานเป็นเครื่องมือข่มขู่ประเทศอื่นๆ และจะยังครอบครองอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ส่วนอิหร่านในมุมมองของสหรัฐฯ ก็ยังเป็นประเทศที่สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายและมีส่วนร่วมในการกระตุ้นความไม่มั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลาง ด้วยการใช้เทคนิค unconventional warfare อีกทั้งเป็นภัยคุกคามของอิสราเอล ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ นอกจากนี้ อิหร่านยังไม่จริงจังที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ (JCPOA) ด้วย สำหรับเกาหลีเหนือ นอกจากจะไม่ปลดอาวุธนิวเคลียร์ ก็ยังพัฒนาและทดสอบขีปนาวุธ รวมทั้งปฏิบัติการทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่องที่เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ และพันธมิตรใกล้ชิด
สำหรับสิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากพฤติกรรมของประเทศอื่นๆ IC ได้กล่าวถึงภัยคุกคามด้านความมมั่นคงสาธารณะสุข ทั้งในเรื่อง Covid-19 อาวุธชีวภาพ และอาการป่วยที่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้ อย่างเช่น Havana Syndrome ที่ปัจจุบัน IC ยังไม่สามารถระบุที่มาที่ไปได้ นอกจากนี้ ยังระบุถึงภัยคุกคามจากวิกฤตโลกร้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่เป็นวาระสำคัญของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบัน โดยเน้นไปที่ประเด็นความท้าทายด้านเศรษฐกิจจากการจัดการกับวิกฤตโลกร้อน การที่น้ำแข็งในขั้วโลกเหนือกำลังละลายและทำให้เกิดการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาคอาร์กติก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงอาจทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพในพื้นที่ที่สหรัฐฯ ต้องการดำเนินนโยบาย สำหรับประเด็นอื่นๆ ที่ IC ยังคงให้ความสำคัญ ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อาชญากรรมข้ามชาติ การอพยพ การก่อการร้าย โดยเน้นไปที่กลุ่ม Islamic State กลุ่มอัลกออิดะฮ์ กลุ่มฮิซบุลเลาะฮ์ และกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งที่มีแรงผลักดันจากประเด็นเหยียดผิวและเชื้อชาติ
อีกประเด็นที่น่าสนใจจากรายงานฉบับนี้ คือ มุมมองของ IC ต่อสถานการณ์ hot spots ทั่วโลก ซึ่งรายงานดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงยูเครน แต่ได้ระบุถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่น่าจะเป็นประเด็นที่สหรัฐฯ ติดตามอย่างใกล้ชิดและขอความร่วมมือจากนานาชาติเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลต่อไป ได้แก่ อัฟกานิสถาน ความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ความขัดแย้งระหว่างจีนกับอินเดีย ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และแอฟริกา ผู้อพยพจากอเมริกาใต้ และสถานการณ์ในเมียนมาที่สหรัฐฯ ยังมีมุมมองว่าจะมีความรุนแรงในระยะยาว และจะยิ่งเป็นจุดขัดแย้งที่สำคัญของภูมิภาคต่อไป ขณะที่เศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 จะยังไม่ดีขึ้น
การทำความเข้าใจมุมมองของ IC จากรายงานดังกล่าวก็ทำให้เราอาจสรุปในเบื้องต้นได้ว่า สหรัฐฯ จะให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งบางเรื่องอาจจะตรง หรือไม่ตรงกับความท้าทายหรือภัยคุกคามของไทย แต่การทำความเข้าใจประเด็นต่างๆ อาจเป็นประโยชน์ในการเพิ่มความร่วมมือกับสหรัฐฯ ได้มากขึ้นในอนาคต