เมื่อเข้าสู่เดือนมีนาคม-เมษายน อากาศในประเทศไทยก็เริ่มร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่องและจะร้อนไปอีกยาวนาน แม้ปัจจุบันเราจะมีเครื่องปรับอากาศอยู่ทั่วทุกที่ แต่อากาศร้อนก็ยังทำให้เรารู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว จนไปถึงการทำให้ป่วยจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ อย่างเช่นที่มีข่าวว่า ชายวัยกลางคนได้เสียชีวิตลงในช่วงฤดูร้อนเมื่อเขาดื่มเครื่องดื่มแอลกอศออล์และทุเรียนในวันที่อากาศร้อนจัด
ข่าวนี้ทำให้เราอาจตั้งสมมติฐานได้ว่า อาหารมีส่วนที่จะช่วยให้ความร้อนหรือการทำงานของร่างกายทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าการกินทุเรียน หรือผลไม้ และอาหารอื่น ๆ ที่ทำให้ร่างกายร้อน และมีอาการต่างๆ ตามมา เช่น ร้อนใน ท้องเสีย หรือมีไข้ ไม่ว่าจะเป็น ฝรั่ง ลำไย มะม่วงสุก ขิง แครอท ถั่วฝักยาว น้ำตาลทรายแดง กะทิ ข้าวเหนียว เนื้อสัตว์ ไข่ อาหารหมักดอง ชา กาแฟ รวมไปถึงอาหารที่ย่อยยากชนิดต่างๆ ที่ร่างกายจะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อย่อยอาหารเหล่านี้ เมื่อร่างกายทำงานหนักก็จะส่งผลให้เกิดความร้อนสูงภายในร่างกายร่วมกับสภาพอากาศที่ร้อนอยู่ด้วยทำให้สมดุลของร่างกายพัง หากไม่รีบปรับสมดุลร่างกายโดยเร็วก็จะทำให้ป่วยจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
วิธีการลดความร้อนภายในร่างกายทำได้หลายวิธี สำหรับวิธีที่จะช่วยรักษาสมดุลในร่างกายได้ นั่นคือ การรับประทานอาหารฤทธิ์เย็น เช่น มะละกอดิบ ย่านาง น้ำมะพร้าว ฟัก ผักบุ้ง บวบ แตงกวา มะนาว มะเขือเทศ สับปะรด แตงโม เป็นต้น ซึ่งในอาหารไทยของเราจะสังเกตได้ว่า เมนูพื้นบ้านจะมีการผสมวัตถุดิบที่มีทั้งฤทธิ์ร้อนและเย็นอยู่ในเมนูอยู่แล้ว เช่น ส้มตำ แกงหน่อไม้ใบย่านาง แกงอ่อม และแกงเลียง นี่อาจเป็นภูมิปัญญาที่สำคัญจากในอดีตที่ได้มีการลองผิดลองถูก และคัดเลือกวัตถุดิบที่กินแล้วรู้สึกสบาย ดีต่อสุขภาพ หาได้ง่ายตามภูมิภาค นำมาผสมผสานและเลือกกินตามฤดูกาล เพื่อคลายร้อนในหน้าร้อนไปได้
ไม่ใช่ว่าอาหารฤทธิ์ร้อนจะเป็นโทษจนต้องเลิกรับประทานและหันมารับประทานแต่อาหารฤทธิ์เย็นเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญ คือ การรักษาสมดุล โดยควรเลือกรับประทานอาหารที่เข้ากับสภาพอากาศหรือสภาพร่างกายในแต่ละช่วง ในฤดูหนาว เราดื่มน้ำขิงอุ่นๆ ก็จะรู้สึกสบายตัวและทนหนาวได้ การรับประทานทุเรียนกับมังคุดก็จะทำให้อาการร้อนทุเลาลงได้
การรักษาสมดุลในการทานอาหารเพื่อสร้างสุขภาพที่ดีขึ้นไม่ได้มีแต่ในไทย เราเห็นได้จากการบริโภคของคนในแต่ละภูมิภาคของโลก อาหารยุโรปที่มีส่วนผสมของ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์หรือพืชหัวที่จะส่งผลดีต่อร่างกาย เพราะอยู่ในภูมิอากาศหนาวเย็น แต่เมื่อวัฒนธรรมอาหารเหล่านั้นได้รับการเผยแพร่ทั่วโลกและคนที่อยู่ต่างภูมิภาคก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบต่างๆ เหล่านั้นได้อย่างเต็มที่ จนอาจเกิดการสะสมความร้อนในร่างกายจนทำให้เสียสุขภาพได้
ย้ำกันอีกที….อาหารฤทธิ์ร้อน – ฤทธิ์เย็นไม่ได้หมายถึงอุณหภูมิของอาหาร แต่เป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ในตัวอาหารต่างๆ และคุณสมบัติดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงได้อีกด้วย หากมีการผสมผสานกัน เช่น น้ำเปล่าเป็นฤทธิ์เย็น แต่เมื่อใส่น้ำแข็ง ดื่มเข้าไป จะทำให้ความร้อนในร่างกายเสียสมดุลไป ลดประสิทธิภาพของกระบวนการเมตาบอลิซึม ทำให้อาหารย่อยช้า และนอกจากนี้ ไม่ใช่ว่าการรับประทานอาหารฤทธิ์เย็นในหน้าร้อนจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องเสมอไป แต่ควรพิจารณาจากสภาพของร่างกายของแต่ละบุคคล หากกินอาหารฤทธิ์เพียงอย่างเดียวก็อาจจะทำให้ป่วยได้ เราจึงต้องคอยสังเกตอาการของร่างกาย เลือกรับประทานที่มีทั้งฤทธิ์ร้อนและเย็นผสมกัน มาก-น้อยแล้วแต่อาการของร่างกายที่จะทำให้กินแล้วรู้สึกสบาย สดชื่นและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข สนุกกับหน้าร้อนนี้ต่อไป