หุ้น Tencent ก็เช่นเดียวกับหุ้น Alibaba และหุ้นเทคโนโลยีสัญชาติจีนตัวอื่น ๆ ที่ตกเป็นเป้าเพ่งเล็งจากองค์กรระดับรัฐบาล จนนักลงทุนในตลาดพากันเทขายอย่างต่อเนื่องในตลอดห้วง 1 ปีที่ผ่านมาจนหลุดแนวรับสำคัญหลายแนว และมีมูลค่าลดลงจากจุดสูงสุดเมื่อต้นปี 2564 ที่ HK$774 ถึงกว่า 60% เหลือเพียง HK$315 ซึ่งเป็นแนวรับเดิมของเมื่อ 3 ปีก่อนที่หุ้น Tencent เคยเคลื่อนที่แบบไร้ทิศทาง (sideway) ระหว่างแนวรับเส้นสีแดงบริเวณ HK$315 และแนวต้านเส้นสีเขียวที่ HK$421 ความคาดหวังของนักลงทุนในตลาดขณะนี้จึงอยู่ที่แนวรับเส้นสีแดงที่เชื่อกันว่าค่อนข้างมีความแข็งแรง จากการที่เคยมีประวัติในการรองรับแรงเทขายจากตลาดได้สำเร็จมาก่อนในช่วงปี 2562-2563 โดยหากรับได้ไหวก็มีแนวโน้มที่จะได้เห็นการฟื้นตัวของหุ้นในลักษณะกราฟรูปตัววี (V-shaped recovery pattarn) เพื่อกลับไปทดสอบแนวต้านหลัก 2 แนว คือ บริเวณเส้นสีเขียว และเส้นสีน้ำเงินบริเวณ HK$476 (ตามภาพที่ 1) ซึ่งเป็นแนวเดิมที่กราฟราคาของ Tencent หลุดทะลุลงมาในช่วงไตรมาสที่ 1 นี้
ในเรื่องของความเป็นไปได้ทางเทคนิคนั้น จะเห็นได้ว่าปัจจุบันกราฟราคาของหุ้น Tencent ได้หลุดทะลุออกมาจากกรอบแนวรับของตลาดขาขึ้นระยะยาว (bullish parallel channel) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในช่วงกุมภาพันธ์-มีนาคม 2565 นี้ เพราะแรงซื้อที่เข้ามาช้อนนั้นไม่สามารถผ่านแนวต้านระยะสั้นที่แนวสีน้ำเงินระหว่าง HK$476-HK$505 ได้ ราคาจึงมีการปรับตัวลงมาอย่างรุนแรง สิ่งที่ต้องสังเกตหลังจากนี้ คือ การเทขายทำกำไรของนักลงทุนระยะสั้นในตลาด Futures และ Spot ที่ตั้งราคาช้อนซื้อหุ้น Tencent ล่วงหน้าไว้บริเวณ HK$316 หากนักลงทุนกลุ่มนี้เลือกที่จะเทขายทำกำไรตามลักษณะขั้นบันไดแนวต้านแต่ละแนวก็มีความเป็นไปได้ว่ากราฟราคาของ Tencent จะไม่สามารถผ่านแนวต้านเส้นสีเขียวนี้ไปได้ เพราะมีคนระดมเทขายทิ้งเสียก่อนที่จะผ่านแนวต้านได้ จากความไม่เชื่อมั่นว่ากราฟจะสามารถผ่านแนวต้านดังกล่าวได้ในครั้งแรกที่กลับไปทดสอบ และอาจเกิดสภาวะเคลื่อนที่แบบไร้ทิศทางออกไปทางข้าง (sideway) ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 นักลงทุนหลายๆคนจึงอาจเลือกที่จะเทรดแล้วขายทำกำไรระยะสั้นๆเป็นรอบๆ (speculation) รอไปก่อน จนกว่าจะมีปริมาณการซื้อขาย (volume) จากนักลงทุนสถาบัน (institutional investors) พุ่งเข้ามาดัน
สำหรับแนวโน้มที่ปรากฏในกราฟแสดงแรงซื้อ-แรงขาย (RSI) นั้น ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ากราฟได้เคลื่อนที่ตามกรอบเส้นขนานสีแดง (bearish parallel channel) ในลักษณะขาลงมาแล้วเป็นเวลากว่า 2 ปี ตั้งแต่ปี 2563 (ตามภาพที่ 2) ที่สะท้อนถึงปริมาณแรงซื้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากจุดสูงสุดเมื่อต้นปี 2564 จากการขายสินทรัพย์เพื่อทำกำไรตามกรอบแนวต้านอัตราส่วน Fibonacci ในกราฟราคา ทำให้กราฟค่า RSI ถูกลากยาวลงมาจนหลุดแนวรับค่า 30 ไปแตะที่ค่า 20 เมื่อช่วงกรกฎาคม 2564 ก่อนมีการเด้งกลับไปวนเวียนอยู่บริเวณค่า 50 ในช่วง 2 ไตรมาสสุดท้ายของปีเดียวกัน เพื่อพยายามยืนเหนือค่า 50-60 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงมีแรงเทขายเข้ามาเพิ่มแล้วกระชากค่า RSI ให้ลงไปอยู่ในโซนต่ำกว่า 18 ในไตรมาสแรกของปี 2565 ทั้งนี้ ยังไม่ปรากฏสัญญาณการเปลี่ยนทิศทางตลาดจากขาลงไปเป็นขาขึ้น (trend reversal) โดยความชัดเจนในประเด็นนี้จะมีมากขึ้น หากกราฟค่า RSI สามารถทะลุออกจากกรอบเส้นขนานสีแดงในภาพที่ 2 แล้วขึ้นไปยืนเหนือค่า 55 ได้ หรือมีแรงเทขายที่ปริมาณน้อยลงในช่วงการย่อลง (retracement) ครั้งถัดไป (ช่วงไตรมาส 2)
***บทความนี้เป็นบทความสรุปความเคลื่อนไหวของตลาดเงินและตลาดทุน ฯลฯ ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน The Intelligence มีข้อพิจารณาว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ก่อนตัดสินใจลงทุน***