แม้น้ำมันดิบจะเคยถูกนักลงทุนจำนวนมากลงความเห็นให้เป็นสินทรัพย์ที่ไร้ค่า แล้วพากันเทขายทิ้งส่งผลให้ราคาดิ่งลงมาต่ำกว่า $20 ต่อบาร์เรล ในช่วงไวรัส COVID-19 กำลังแพร่ระบาดจนทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการเดินทางทั่วโลกหยุดชะงักลงกะทันหันในทันทีจากความตื่นตระหนก แต่หลังจากรัฐบาลหลายๆแห่งเริ่มทำความเข้าใจกับสถานการณ์ขณะนั้น กราฟราคาน้ำมันดิบก็ฟื้นตัวขึ้นทันทีในลักษณะการหักหัวขึ้น (strong reversal) ช่วงพฤษภาคม 2563 โดยมีการปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องมาตลอด 2 ปี ตามกรอบทแยงสีดำ (ascending channel) โดยที่มีการย่อลงของกราฟอย่างรุนแรงเพียงครั้งเดียว คือ ในช่วงปลายปี 2563 ก่อนจะเคลื่อนตัวในลักษณะเกาะติดแนวต้านเส้นสีดำไป สะท้อนถึงแรงซื้อที่ตามเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ทั้งจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การขนส่งในหลายๆประเทศที่เริ่มฟื้นตัว และกลุ่มนักลงทุนสายเก็งกำไรที่เข้ามาซื้อน้ำมันดิบผ่านสัญญาซื้อ-ขายล่วงหน้าในตลาดอนุพันธ์
หากพิจารณาจากมุมของเทคนิค จะเห็นได้ว่ากราฟราคาน้ำมันดิบในปี 2564 นั้นมีแรงซื้อจากนักลงทุนเบาบางลงไปพอสมควร ทำให้รูปแบบการเคลื่อนที่ของแท่งเทียนมีการชะลอตัวสัมพันธ์กับปริมาณแรงซื้อในตลาดจนราคาต้องย่อลงไปแตะแนวรับเส้นสีน้ำเงิน (ตามภาพที่ 1) บริเวณ $65 ต่อบาร์เรลอยู่ 4-5 ครั้ง เนื่องจากแรงซื้อในตลาดมีไม่เพียงพอที่จะสามารถดันราคาให้ทะลุขึ้นไปอยู่เหนือแนวต้านเส้นสีม่วงบริเวณ $85 ต่อบาร์เรลได้ แต่ด้วยผลของการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และข่าวความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันดิบกลับเข้าสู่ขาขึ้นได้อีกครั้ง โดยในครั้งนี้สามารถทะลุผ่านขึ้นไปยืนเหนือแนวต้านเส้นสีม่วงได้สำเร็จ พร้อมทลายแนวต้านเส้นสีส้มที่บริเวณ $110 ต่อบาร์เรลได้และสามารถทะลุออกไปอยู่นอกกรอบสีดำได้เป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี เป้าหมายในเดือนมีนาคมของน้ำมันดิบนี้ในเบื้องต้นจึงเป็นการยืนเหนือแนวต้านสีดำบริเวณ $120 ต่อบาร์เรลนี้ให้ได้ หากต้องการจะทะยานขึ้นต่อ แต่หากไม่สามารถยืนเหนือโซนดังกล่าวได้ ราคาน้ำมันดิบอาจย่อลงไปที่แนวรับเส้นสีส้มที่ $110 และฐานเดิมบริเวณ $95 ได้
สำหรับมุมมองจากเครื่องมือแสดงแรงซื้อ-แรงขาย (RSI) จะเห็นว่าค่า RSI ของน้ำมันดิบสามารถทะลุออกมาอยู่นอกกรอบสีแดง (ตามภาพที่ 2) โดยมีการย่อลงเพื่อสร้างฐานบริเวณกรอบบนของเส้นสีแดงที่ค่า 60 (confirmed revisit) ไปแล้วเมื่อช่วงกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงมีความเป็นไปได้ว่าน้ำมันดิบอาจจะยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อไปได้ โดยมีเป้าอยู่ที่บริเวณค่า 90 ของกราฟ RSI แต่ก่อนจะขึ้นไปถึงค่า 90 ได้นั้น ทั้งกราฟราคา และกราฟค่า RSI อาจจะต้องย่อลงมาบริเวณ 70 ก่อนเพื่อให้มีแรงซื้อเข้ามาเพิ่มจนสามารถส่งกราฟค่า RSI ขึ้นไปทดสอบแนวต้านเส้นสีดำและเส้นสีส้มบริเวณ 90 ได้ โดยหากน้ำมันดิบยังต้องการให้นักลงทุนเชื่อว่าตลาดขาขึ้นยังไม่จบ กราฟค่า RSI นี้ไม่ควรหลุดโซน 60 กลับลงไปในกรอบทแยงสีแดง เพราะจะทำให้นักลงทุนในตลาดมองว่ากราฟเสียทรง (lower low) และทำให้มีปริมาณแรงขายเทเพิ่มเข้ามาในตลาดได้
***บทความนี้เป็นบทความสรุปความเคลื่อนไหวของตลาดเงินและตลาดทุน ฯลฯ ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน The Intelligence มีข้อพิจารณาว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ก่อนตัดสินใจลงทุน***