องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ได้คาดการณ์ว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ทำให้คนตกงานมากขึ้น จากที่มีคนตกงาน 186 ล้านคน เมื่อปี 2562 จะมีคนตกงาน 207 ล้านคน ในปี 2565 และเวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ได้ระบุเมื่อปี 2563 ว่าประมาณครึ่งหนึ่งของแรงงานต้องเรียนรู้ความสามารถใหม่ๆ ภายใน 5 ปี โดยในภูมิภาคเอเชีย ประเทศอินเดีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ได้จัดโครงการฝึกอาชีพ เสนอสิทธิประโยชน์ทางภาษี และให้เงินอุดหนุน เพื่อสนับสนุนการเรียนในด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ สุขภาพ หรือเศรษฐกิจสีเขียว นอกจากนี้บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ อาทิ ไมโครซอฟต์ กูเกิล อเมซอน และไอบีเอ็มได้จัดโครงการอบรมทางเทคโนโลยี อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีคนเข้าร่วมโครงการอบรมทางออนไลน์เพิ่มขึ้นในช่วงสถานการณ์ COVID-19 แต่แรงงานส่วนใหญ่ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงการฝึกอบรมได้ ซึ่งหากรัฐบาลและองค์กรต่างๆ ไม่ให้ความสนใจในการอบรมทักษะให้ผู้มีรายได้น้อยเพื่อทำให้มีการจ้างงาน จะส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมในสังคมอย่างมาก
เวทีเศรษฐกิจโลกระบุว่า ผลจากการระบาดของโรค COVID-19 และมาตรการปิดเมือง (ล็อกดาวน์) ทำให้แรงงานตกงานหลายล้านคน และงานเหล่านั้นกำลังถูกเครื่องจักรและปัญญาประดิษฐ์เข้ามาแทนที่ เนื่องจากต้องลดความแออัดและปฏิบัติตามกฏทางสุขภาพที่เข้มงวดมากขึ้น โดยในปี 2568 จะมีงาน 85 ล้านตำแหน่งถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร แต่ก็จะมีการสร้างงาน 97 ล้านตำแหน่งที่เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์เพิ่มขึ้นมา โดยเมื่อปี 2564 มาเลเซียได้ออกร่างแผนเศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะใช้งบประมาณ 1,000 ล้านริงกิตในโครงการพัฒนาและเพิ่มทักษะแรงงาน นิวซีแลนด์ก็จะเพิ่มการอบรมในภาคเอกชน 2 สองเท่าภายในปี 2568 และสิงคโปร์ได้มีโครงการ SkillsFuture ที่ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่และปัญญาประดิษฐ์ในการตรวจสอบแนวโน้มของงานและทักษะที่เป็นที่ต้องการ เพื่ออบรม แนะแนว และสนับสนุนการพัฒนาทักษะไม่ให้คนตกงาน โดยเมื่อ ธ.ค. 64 ได้มีการรายงานว่าเสาหลักสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจคือ ภาคดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว และสุขภาพ ซึ่งสร้างงานหลายหมื่นตำแหน่งให้กับสิงคโปร์
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังส่งผลให้ Gig Economy (อาชีพอิสระและงานชั่วคราว) เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนผ่านการทำงานสู่ดิจิทัลของธุรกิจขนส่ง คมนาคม และคลังสินค้า โดยผู้ประกอบอาชีพอิสระและพนักงานชั่วคราว ในอินเดียมี gig jobs ประมาณ 3 ล้านตำแหน่งในปัจจุบัน และภายใน 8 – 10 ปี อาจจะเพิ่มเป็น 90 ล้านตำแหน่ง เพราะ Gig Economy สามารถสร้างโอกาสให้ผู้หญิงและคนชราได้มากกว่า และผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ ผู้สนใจทำงานในรูปแบบดังกล่าวยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น รวมถึงผู้ที่มีการศึกษาระดับปริญญาก็ให้ความสนใจงานดังกล่าวเนื่องจากสถานการณ์ของโรคระบาดทำให้ต้องตกงาน และต้องการรายได้เสริมสำหรับค่ารักษาพยาบาลในยามฉุกเฉิน โดยรัฐบาลอินเดียกำลังพยายามนำเสนอหลายวิธีเพื่อลดช่องว่างของทักษะ แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับจำนวนประชากรจำนวนมากที่ต้องการเพิ่มทักษะ นอกจากนี้ การศึกษาในช่วงโรคระบาดยังทำได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงอาจทำให้อุปสงค์อุปทานของแรงงานไม่สอดคล้องกัน และอาจเกิดปัญหาการว่างงานระยะยาวของงานบางประเภทได้
ที่มา : https://www.weforum.org/agenda/2022/03/asian-workers-pushed-to-upskill-as-pandemic-quickens-digital-shift/