เสร็จสิ้นไปเป็นที่เรียบร้อยกับการลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีของปากีสถานเมื่อกลางดึกที่เข่าสู๋ 10 เมษายน 2565 ซึ่งส่งผลให้นายกรัฐมนตรีอิมราน ข่านกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ปากีสถานที่หลุดจากตำแหน่งโดยการโหวตของรัฐสภา
.
แม้ว่าก่อนหน้านี้เขามีความพยายามอย่างมากที่จะยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่เมื่อศาลสูงสุดตัดสินว่าการกระทำดังกล่าวนั้นขัดรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ท้ายที่สุดแล้วเขาต้องถูกรัฐสภาลงมติในที่สุด และค่ำคืนที่ผ่านมาก็ได้กลายเป็นฝันร้ายของเขาไปเป็นที่เรียบร้อย
.
คำถามต่อมาคือแล้วใครจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดไปของปากีสถาน ซึ่งแน่นอนว่าสื่อหลายสำนักเล็งตรงกันว่าตัวเต็งคนสำคัญคงไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นนายเชห์บาซ ชารีพ น้องชายของอดีตนายกรัฐมนตรีนาวาฟ ชารีพ ผู้เล่นบทบาทเป็นผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภาเวลานี้
.
ชัยชนะในรัฐสภาในครั้งนี้ส่งผลให้ตระกูลชารีพกลับมามีอำนาจทางการเมืองอีกครั้งภายหลังก่อนหน้านี้ต้องเผชิญกับคำตัดสินเกี่ยวกับการทุจริตเงินแผ่นดิน
.
อย่างไรก็ตามแม้เชห์บาซ จะมาจากตระกูลชารีพ แต่เขานั้นมีความแตกต่างจากพี่ชายหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือความสัมพันธ์ของเขากับทหาร ที่รู้กันดีในทางการเมืองว่าคุมทั้งนโยบายความมั่นคงและการต่างประเทศ
.
เชห์บาซนั้นค่อนข้างมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับทหาร แตกต่างจากพี่ชายของเขา ที่ขัดแย้งกับทหารบ่อยครั้งจนถูกรัฐประหาร ตรงนี้ทำให้บางฝ่ายมองว่าเป็นเหตุผลให้ทหารที่เชื่อกันว่าสนับสนุนอิมราน ข่าน วางตัวนิ่งเฉยต่อเหตุที่เกิดในรัฐสภา
.
ยิ่งไปกว่านั้นเชห์บาซยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับจีนอีกด้วย โดยเขาได้มีโอกาสทำงานร่วมกับจีนอย่างใกล้ชิดในช่วงที่มีการลงทุนพัฒนาแคว้นปัญจาบ บ้านเกิดของเขาในช่วงที่เขาเป็นผู้บริหาร
.
ในขณะเดียวกันจีนเองก็ชื่นชมการทำงานของเขา ถึงขนาดที่กงสุลจีนเคยกล่าวชมเขาว่าไม่ว่าเขาจะทำงานเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เขาจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ
.
อีกหนึ่งจุดแข็งของชายคนนี้คือการมองสหรัฐอเมริกาต่างจากข่าน ในขณะที่ข่านหันหลังให้สหรัฐอเมริกาอย่างเต็มตัว เชห์บาซกลับมองว่าปากีสถานสามารถแสวงหาผลประโยชน์จากสหรัฐอเมริกาได้
.
สุดท้ายนี้ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปากีสถานในครั้งนี้คาดกันว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อรูปแบบความสัมพันธ์ในภูมิภาคเอเชียใต้โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องแคชเมียร์ อัฟกานิสถาน และฐานทัพของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาค
.
ยิ่งไปกว่านั้นเหตุการณ์ในครั้งนี้อาจนำมาซึ่งความวุ่นวายทางการเมืองภายในปากีสถานด้วยเช่นกันเพราะอิมราน ข่านเองก็มีการเรียกร้องให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นออกมาเดินขบวนประท้วงตามท้องถนนด้วย
.
เสถียรภาพของรัฐบาลชุดใหม่ก็ถือเป็นอีกเรื่องที่ต้องจับตามองเพราะมาจากการผสมของหลายพรรคการเมือง ซึ่งอาจเกิดปัญหาได้ทุกเมื่อเพราะเสียงสนับสนุนนั้นอยู่ในขั้นปริ่มน้ำ การผิดใจกันของพรรคร่วมรัฐบาลชุดใหม่อาจนำมาซึ่งการล้มลงของรัฐบาลชุดใหม่ได้ทุกเมื่อ
ผู้เขียน
ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
กำลังศึกษาปริญญาเอกที่คณะการจัดการ และทำงานเป็นนักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแถบและเส้นทาง มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน สนใจประเด็นการต่างประเทศ การเมือง และพลังงานในภูมิภาคเอเชียใต้และจีน