สงครามรัสเซีย-ยูเครน กำลังผลักให้สวีเดนและฟินแลนด์เข้าร่วมนาโต้
สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับความมั่นคงของยุโรปทั่วทั้งทวีป บทเรียนของยูเครนกำลังเป็นตัวอย่างให้ผู้นำประเทศยุโรปพิจารณามากขึ้นเกี่ยวกับนโยบายด้านความมั่นคงของประเทศตนเอง ท่ามกลางสงครามครั้งนี้ ประเทศที่ผู้คนส่วนใหญ่รู้จักกันว่าเป็นประเทศที่มีดัชนีความสุขของประชากรเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และมักมีแนวนโยบายต่างประเทศที่เป็นกลางเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศขึ้น นั่นคือ สวีเดนและฟินแลนด์ สองประเทศนี้กำลังพิจารณาเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้/เนโต้ ที่เราคุ้นเคยชื่อกัน สงครามรัสเซีย-ยูเครนในขณะนี้มีแนวโน้มที่จะลดระดับความรุนแรงลงเป็นลำดับ หลังจากที่ยูเครนสามารถต้านทานการโจมตีของรัสเซียที่กรุงเคียฟได้ ขณะที่ฝ่ายรัสเซียได้ประกาศว่าจะมุ่งเน้นปฏิบัติการทางภาคตะวันออกของยูเครนในบริเวณดอนบาส อย่างไรก็ดี ยังไม่มีสัญญาณว่าสงครามรอบนี้จะจบลงในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากการเจรจาระหว่างผู้แทนทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ แรงสนับสนุนยูเครนของประเทศโลกตะวันตก ซึ่งให้การสนับสนุนทั้งในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร และด้านมนุษยธรรม เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยูเครนยังคงยืดหยัดต่อสู้กับกองทัพรัสเซียได้ แม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต้ก็ตาม มองขึ้นไปทางเหนือของยูเครน จะพบว่ามีประเทศที่มีเขตแดนติดกับรัสเซียดังนี้ เบลารุส ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย หากพิจารณาบริบทปัจจุบันจะพบว่า เบลารุสมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัสเซียมาก อย่างสงครามที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เบลารุสก็อนุญาตให้กองทัพรัสเซียใช้ดินแดนของเบลารุสเข้าโจมตียูเครนทางตอนเหนือ ขณะที่สามประเทศถัดมา ได้แก่ ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย เป็นประเทศแตกออกมาจากสหภาพโซเวียต แต่ได้เข้าเป็นสมาชิกนาโต้ตั้งแต่ปี 2547 อย่างไรก็ตาม เมื่อมองข้ามทะเลบอลติกขึ้นไปทางเหนือ จะพบกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย 3 ประเทศ ได้แก่ นอร์เวย์ สวีเดน และฟินแลนด์ โดยขณะที่นอร์เวย์เข้าเป็นสมาชิกนาโต้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2492 นั้น…