“น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย แหล่งต้นน้ำถูกทำลาย” การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมีผลต่อวัฏจักรของน้ำทั่วโลกที่กำลังเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อทุกๆ ภาคส่วน เพราะน้ำถือเป็นต้นทุนของทุกๆ สิ่ง ทั้งการเกษตร อุปโภค-บริโภค อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว องค์กรหุ้นส่วนน้ำโลก (Global Water Partnership) จึงได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวม (Integrated Water Resources Management – IWRM ) โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่
- น้ำจืดเป็นทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดและมีความเปราะบาง การกระทำใด ๆ อาจส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพน้ำได้
- การจัดการน้ำ ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของผู้ใช้และผู้วางแผนและผู้กำหนดแนวนโยบายทุกระดับ
- สตรีมีบทบาทสำคัญในการจัดหา จัดการและดูแลรักษาน้ำ ต้องมีความเท่าเทียมในการบริหารจัดการน้ำ
- น้ำมีคุณค่าทางเศรษฐกิจสำหรับภาคการใช้ต่างๆ และจำเป็นต้องถือว่าเป็นสินค้าเชิงเศรษฐกิจ
ทั้ง 4 ข้อมีบทสรุปสั้น ๆ ได้ว่า “การบริหารจัดการน้ำจะต้องให้ความสำคัญกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ซึ่งต้องมีเป้าหมายในการใช้ และดูแลรักษาทรัพยากรน้ำในทิศทางเดียวกัน”
สำหรับในความเชื่อดั้งเดิมของการจัดการน้ำของไทย จะมองทรัพยากรน้ำว่าเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด เสมือนทรัพยากรที่ไร้ต้นทุน จึงมีการใช้อย่างฟุ่มเฟือย และเมื่อมีผู้ใช้มาก ก็จะส่งผลให้ผู้ใช้อื่นมีโอกาสใช้น้อยลงจนขาดแคลน ไม่ใช่แค่การใช้น้ำ แต่รวมถึงการทิ้งทุกอย่างลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้น้ำเน่าเสียมีสารเคมีเจือปน จนส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่ใกล้และใช้น้ำเสียเหล่านั้น กลายเป็นความเหลื่อมล้ำจากวงจรการใช้น้ำ และทำให้เกิดความขัดแย้งได้ เช่น ความขัดแย้งระหว่างคนต้นน้ำที่เป็นผู้ใกล้ชิดกับแหล่งกำเนิดน้ำ คนกลางน้ำที่เป็นผู้ใช้น้ำ และคนปลายน้ำที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้น้ำ ดังนั้น จากสถานการณ์นี้ “น้ำ” ในปัจจุบันจึงมีสถานะเปลี่ยนไปเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด มีต้นทุนในการผลิต มีมูลค่า และมีผู้เกี่ยวข้องกับน้ำหลายภาคส่วน
เมื่อพิจารณาแนวทางและหลักการการบริหารจัดการน้ำประกอบกับภาพสะท้อนจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อปี พ.ศ. 2554 ทำให้เห็นจุดอ่อนสำคัญของการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยทีมีความเชื่องช้า ขาดอำนาจเบ็ดเสร็จในการรสั่งการ จึงได้มีการตั้ง คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีอำนาจในการสั่งการ และมีการกำหนด พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องกับน้ำด้วยการจัดตั้ง “คณะกรรมการลุ่มน้ำ” ประจำลุ่มน้ำสาขาทั้งหมด ให้สอดคล้องกับสภาพการแบ่งขอบเขตการบริหารจัดการน้ำตามลักษณะของลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำของประเทศไทย ต่างจากการจัดการตามขอบเขตการปกครองที่ไม่สอดคล้องตามสภาพภูมิศาสตร์ตั้งแต่สันปันน้ำที่ต้นน้ำ ที่ราบกลางน้ำ และปลายน้ำ คือ ทะเลหรือจุดที่เปลี่ยนสายแม่น้ำจากการไหลรวมกัน
อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย นอกจากการสร้างโครงสร้างบริหารจัดการน้ำให้เกี่ยวข้องกับ ผู้ใช้น้ำทุกระดับแล้ว ยังคงต้องเพิ่มการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการท่องเที่ยว เมื่อแหล่งน้ำเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เกี่ยวเนื่องกับการจัดการพื้นที่ริมน้ำของ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม รวมถึงผู้ใช้น้ำอีกกลุ่มหนึ่ง ที่มักจะเกี่ยวข้องกับการควบคุมคุณภาพน้ำ การบำบัดน้ำของโรงงานของกระทรวงอุตสาหกรรม แม้จะเป็นกลุ่มใช้น้ำเพียง 3% แต่การใช้น้ำในอุตสาหกรรมมีผลต่อระบบเศรษฐกิจด้วย และกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่สามารถกำหนดมาตรการในการควบคุมการบำบัดน้ำก่อนปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำ ถือเป็นการจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศที่อาศัยความร่วมมือกันตั้งแต่ภาครัฐ ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ที่รับฟังข้อมูลมาจากผู้ใช้น้ำ ทุกภาคส่วน และวางแผนในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน