ตั้งแต่ต้นปี 2565 สถานการณ์ต่างๆ ทั่วโลก ทำให้บรรยากาศของการลงทุนไม่คึกคักเท่าไหร่ การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 สายพันธุ์โอไมครอนยังคงระบาดอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้การท่องเที่ยวไม่ฟื้นตัว และผลกระทบของเศรษฐกิจจากช่วง COVID-19 ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นในหลายๆ ประเทศ จนไปถึงการเกิดความขัดแย้งจนกลายเป็นสงครามของรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันและสินค้าสูงขึ้นส่งผลให้ค่าครองชีพสูงมากขึ้นตามไปด้วย สวนทางกับรายได้ที่คงที่หรือลดน้อยลง จนเข้าใกล้สู่ภาวะ stagflation (เศรษฐกิจตกต่ำ)
สถานการณ์ต่างๆ ดังกล่าว ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งตัวลง หุ้นสหรัฐอเมริกาเริ่มดิ่งตัวลงมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วจากการประกาศเพิ่มดอกเบี้ยของ FED เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ และจะทยอยปรับขึ้นตลอดทั้งปี ในส่วนของหุ้นจีนก็ยังคงได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบธุรกิจในด้านต่างๆ และยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เท่ากับช่วง 2-3 ปีก่อน ส่วนหุ้นยุโรปได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรฐกิจที่ส่อแววฝืดเคืองจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน
เมื่อตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่นๆ ที่เคยทำกำไรได้สูงๆ ชะลอตัวลง ทำให้นักลงทุนหันมาสนใจ ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่กำลังค่อยๆ ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 หุ้นไทยกลับมีการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้กว่า 100,301 ล้านบาท ทำได้ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย ทำให้เกิดโอกาสที่น่าสนใจจากนักลงทุนภายในประเทศด้วยเช่นกัน นักลงทุนภายในประเทศเริ่มกลับมาลงทุนภายในต่างประเทศ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ นักลงทุนโดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ (18-39 ปี) มักจะลงทุนในหุ้นต่างประเทศและสินทรัพย์ออนไลน์ อย่าง คริปโตเคอเรนซี หลังจากที่ต้นปีคริปโตร่วงลงกว่า50% ในช่วงต้นปี และการห้ามใช้ในการชำระหนี้และการเก็บภาษีแลกเปลี่ยน ทำให้ความน่าสนใจของคริปโตเคอเรนซีลดลง
จุดแข็งของหุ้นไทยที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ และสามารถฟื้นตัวได้ท่ามกลางสถานการณ์ทั่วโลกที่ทรุดตัว นั่นก็เพราะเศรษฐกิจไทยไม่ได้เน้นเรื่องของเทคโนโลยี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มูลค่าเศรษฐกิจพุ่งขึ้นสูงในปี 2564 โดยเฉพาะเทคโนโลยีชิป เซมิคอนดักเตอร์ แต่เศรษฐกิจของไทยประกอบด้วยธุรกิจพื้นฐานเช่นเดิม (OLD ECONOMY) ที่เน้นธุรกิจทางด้านสุขภาพ อาหาร และการส่งออก จึงทำให้มีโอกาสที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องต่อไป
ความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ของหุ้นได้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสที่จะดึงดูดการลงทุนของต่างชาติ แม้การท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้ 25% ของไทยโดยเฉลี่ย จะยังไม่ฟื้นตัวและยังคงได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจของไทยจะต้องทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการต่อยอดอุตสาหกรรม เพิ่มคุณภาพของอุตสาหกรรมการผลิต แปรรูปผลผลิต สร้างความต่อเนื่องและการรวมกลุ่มของผู้ผลิตที่ต่อเนื่องกัน จนไปถึงการสร้างองค์ความรู้ที่เป็นของตัวเอง โดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานที่ได้มีการวางแผนมาแล้วอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งระบบราง การเปิดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ การทำเกษตรแปลงใหญ่ โดยการสนับสนุนของจากภาครัฐ ที่จะต้องมีความชัดเจนในการประกาศนโยบายในระยะยาว
ในทางกลับกัน สถานการณ์การเมืองของไทยจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อความเชื่อมั่นต่อนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทย และความเชื่อมั่นในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในช่วงใกล้ที่จะมีการเลือกตั้ง แม้พฤติกรรมการลงทุนในหุ้นจะเป็นการลงทุนระยะสั้น และนักลงทุนจะคอยแสวงหาตลาดที่มีโอกาสการเติบโตอยู่เสมอๆ แต่การสร้างความเชื่อมั่นยังคงเป็นสิ่งสำคัญต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ และเป็นการสร้างชื่อเสียงและความน่าสนใจให้กับนักลงทุนทั่วโลก ความหลากหลายของระบบเศรษฐกิจจะทำให้ไทยสามารถดึงดูดนักลงทุนได้อย่างต่อเนื่องนั่นเอง